Pages - Menu

วันอังคารที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ข่าว-preorder

มติชนสำรวจ หิ้วแบรนด์หรูขายในเน็ต กรมศุลฯเปิดศึก-ไล่สกัด




ช่วงนี้คนที่เดินทางไปต่างประเทศ หลายคนหนาวๆ ร้อนๆ กับกรณีป้ายเตือนของที่บอกให้รู้ว่าถ้าซื้อสินค้าจากต่างประเทศกลับไทยเกิน 1 หมื่นบาทอาจถูกเก็บภาษีทันที
แม้ว่าป้ายเตือนถูกเก็บไปแล้ว แต่ นายสมชัย สัจจพงษ์ อธิบดีกรมศุลกากร บอกว่า การบังคับใช้กฎหมายจะเข้มงวดเหมือนเดิม ผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศถูกสุ่มตรวจจากเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร พร้อมทั้งยังฝากเตือนไปยังขบวนการรับฝากซื้อสินค้าจากต่างประเทศ (พรีออเดอร์) ว่าศุลกากรมีข้อมูล ทราบชื่อ ทราบกลุ่ม และมีประวัติในมืออยู่แล้ว ให้เลิกพฤติกรรมนี้เสียที
การจัดเก็บภาษีจากสินค้านำเข้าเกิน 1 หมื่นบาทนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ ถือเป็นกฎหมายเดิมที่ใช้มานานแล้ว แต่ที่ผ่านมากรมศุลกากรจะไม่เข้มงวดกับการซื้อมาเพื่อใช้ส่วนตัว ตรงนี้เป็นช่องโหว่ให้ขบวนการหิ้วของมาขายในไทยมีเพิ่มมากขึ้น และขายกันเกลื่อนในโลกออนไลน์ ทั้งในเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ในเว็บไซต์บางแห่งโฆษณาว่า แอร์โฮสเตสหิ้วเอง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้ตัวสินค้า
ยิ่งยุคนี้การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตง่ายขึ้น ทำให้ตลาดค้าขายสินค้าเหล่านี้โตขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี แม้ว่าขณะนี้จะยังไม่มีหน่วยงานใดสรุปสถิติของสินค้าพรีออเดอร์ที่ขายกันว่ามีจำนวนเท่าไหร่
แต่จากการเปิดเผยของ น.ส.วิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท PwC Consulting (ประเทศไทย) ถึงผลสำรวจ Achieving Total Retail: Consumer expectations driving the next retail business model เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม 2557 พบว่า ประเมินตลาดสินค้าออนไลน์ในไทยมีมูลค่าสูงกว่า 1 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ที่มีมูลค่าการตลาดประมาณ 9 หมื่นล้านบาท สินค้าออนไลน์ที่คนไทยนิยมสั่งซื้อมากที่สุด คือ สินค้าแฟชั่น และสินค้าที่เกี่ยวกับความสวยความงาม เช่น เสื้อผ้า เครื่องประดับ
จากผลการสำรวจในโลกออนไลน์ของทีมข่าวเศรษฐกิจ "มติชน" พบว่า สินค้าที่ได้รับความนิยมแบ่งเป็นกลุ่ม ดังนี้ กระเป๋า อาทิ กระเป๋า Coach ของอเมริกา กระเป๋า Louis Vuitton ของฝรั่งเศส และกระเป๋า Longchamp จากยุโรป เครื่องสำอาง สกินแคร์ จากเกาหลีและญี่ปุ่น ยี่ห้อ Etude Skinfood Shiseido รองเท้า NB Onitsuka Tiger Vans Flipflop แว่นตา Rayban, Oakley นาฬิกา Casio G-shockนอกจากนี้ยังมีกลุ่มอาหารเสริม และวิตามิน รวมถึงขนมจากญี่ปุ่นเป็นที่นิยมสั่งซื้อในโลกออนไลน์ค่อนข้างมาก
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มของไฮโซ ดารา ที่เปิดร้านขายของแบรนด์เนมราคาแพงอย่างกระเป๋า Hermes Prada นาฬิกา Rolex ในอินสตาแกรม ซึ่งกลุ่มนี้จะบินไปซื้อของเองในยุโรปหรืออเมริกา เมื่อถูกตรวจค้นมักอ้างว่าเอามาใช้เองเพราะมีไม่กี่ชิ้น ตรงนี้อาจถือเป็นสาเหตุของป้ายประกาศกรมศุลกากรที่ติดไว้ว่าอนุญาตให้นำเข้าเฉพาะของส่วนตัว ห้ามฝากญาติ พี่น้อง และเจ้านาย กลุ่มนำเข้าสินค้าหรูราคาแพงชิ้นละหลายแสนบาทที่ทำเป็นล่ำเป็นสัน หนีไม่พ้นกลุ่มอาชีพแอร์ สจ๊วต ซึ่งนำเข้าครั้งละไม่มากแค่ 1-2 ใบตามออเดอร์ แต่ด้วยราคาสินค้าที่แพงมากทำให้กลุ่มนี้จะต้องไปทำความคุ้นเคยกับเจ้าหน้าที่ศุลกากร บางครั้งต้องจ่ายใต้โต๊ะให้เจ้าหน้าที่ตามมูลค่าสินค้า ตั้งแต่ระดับพันบาทถึงหมื่นบาท
ส่วนพวกมือใหม่ที่เพิ่งหัดขายใช้วิธีบินไปซื้อเองใกล้ๆ อย่างเกาหลี ญี่ปุ่น ที่มีโปรโมชั่นตั๋วบินราคาถูก นำเข้าครั้งละหลายสิบชิ้น บางครั้งไปหลายคนเพื่อแยกราคา แยกป้าย แยกกล่องไว้ต่างหาก หลังจากนั้นวัดดวงกันระหว่างผ่านด่านศุลกากรว่าจะถูกเจ้าหน้าที่สุ่มตรวจหรือไม่ กลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะหนีไม่พ้นสายตากรมศุลกากร ข้อสังเกตคือกระเป๋าผ้าใบใหญ่ๆ ที่สำคัญไม่มีเส้นสายรู้จักใครที่พอจะช่วยพูดให้เว้นๆ ให้บ้าง
แต่จะมีอีกกลุ่มที่ขายสินค้าพรีออเดอร์ในลักษณะที่มีญาติ เพื่อน หรือคนรู้จักอยู่ในต่างประเทศ หลังจากนั้นจะส่งของเข้ามาทางเรือ หรือบางรายทางไปรษณีย์ ถ้ากล่องใหญ่ๆ บางครั้งส่วนใหญ่ไม่รอดพ้นที่จะต้องเสียภาษี และอีกกลุ่มเป็นพ่อค้าแม่ขายเอง เป็นคนไทยที่ไปใช้ชีวิตยังต่างประเทศและส่งของเข้ามาให้กับผู้ซื้อในไทยผ่านทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศ (เครื่องบิน) กลุ่มนี้มีเทคนิคการส่งของว่าให้ห่อเป็นของขวัญและเขียนอวยพรแนบไว้ หรือส่งเป็นกล่องเล็กๆ เพื่อตบตาเจ้าหน้าที่ศุลกากร แต่สุดท้ายมีบ้างที่ไม่รอดถูกเจ้าหน้าที่เรียกมาเสียภาษี แต่จนถึงปัจจุบันกลุ่มนี้ยังมีเรื่อยๆ ชอบเสี่ยงดวงทำมาตลอด ส่วนใหญ่จะเป็นรายเล็กๆ
แหล่งข่าวจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงในกรมศุลกากร ระบุว่า ในแต่ละปีกรมศุลกากรที่สนามบินสุวรรณภูมิสามารถจับสินค้านำเข้าและส่งออกปีละหลายสิบล้านบาท โดยในปีงบประมาณ 2556 มีการจับกุมได้ 107 ครั้ง มูลค่าสินค้า 29 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2557 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 ถึงเดือนมิถุนายน 2557 จับกุมได้ 75 ครั้ง มูลค่าสินค้า 40 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าสินค้าหรู อาทิ นาฬิกา กระเป๋าแบรนด์เนม เครื่องสำอาง น้ำหอม
ข้อสังเกตว่าใครจะขนสินค้าเข้ามาขายนั้น เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรจะดูจากพฤติกรรมการเดินทาง เช่น คนนี้เดินทางเกือบทุกเดือน ใช้กระเป๋าใบใหญ่ๆ ต้องถูกเจ้าหน้าที่นำมาตรวจสอบ พร้อมกันนี้ดูผู้ที่มีบุคลิกเป็นพ่อค้า แม่ค้า ซึ่งวิธีสังเกตแบบนี้ถือเป็นความสามารถเฉพาะตัวเจ้าหน้าที่ที่มีประสบการณ์ต้องเจอคนวันละหลายพันคนที่จะแยกได้เอง
นอกจากนี้จะมีทีมเข้าไปดูทั้งในอินสตาแกรม เฟซบุ๊ก หรือในเว็บไซต์ที่รับพรีออเดอร์สินค้าจากต่างประเทศว่าเจ้าของแอ๊กเคานต์ชื่ออะไร มีแผนจะเดินทางไปประเทศไหน และจะเดินทางกลับไทยเที่ยวบินไหน ที่ผ่านมีการจับกุมในลักษณะสืบจากการขายสินค้าออนไลน์หลายคดีแล้ว
"ถ้านำมาขายส่วนใหญ่จะไม่ทิ้งป้ายราคา และยังเก็บกล่องใส่สินค้าพร้อมทั้งอาจจะนำเข้ามาในลักษณะสินค้าเดียวเป็นสิบชิ้น ส่วนของราคาแพงคนที่นำเข้ามาอ้างว่าซื้อมาใช้เอง ต้องดูว่าเหมาะสมกับฐานะหรือไม่ บางคนที่บินกลับจากฝรั่งเศสแม้ว่าจะนำเข้ามาชิ้นเดียว อาทิ หิ้วกระเป๋าแอร์เมสใบละ 4-5 แสนบาท ใส่นาฬิกาโรเล็กซ์เรือนละเป็นล้านบาทเข้ามา แต่ยังเก็บกล่องมีป้ายราคาครบ และดูบุคลิกแล้วไม่น่าจะเป็นผู้ใช้ของแพงขนาดนั้นต้องเรียกตรวจและจัดเก็บภาษี" รายงานข่าวระบุ
สำหรับลูกเรือสายการบินทั้งแอร์และสจ๊วตนั้น ทางกรมศุลกากรจะพิจารณาพฤติกรรมในการขนสินค้า คือ ถ้าขนสินค้าเดิมๆ ซ้ำๆ หลายเที่ยว หรือเป็นสินค้าที่มีราคาแพงเข้ามาบ่อยๆ จะตั้งข้อสังเกตทันทีนำมาขายต่อ ต้องเสียภาษี โดยกรมศุลกากรมีการอะลุ้มอล่วยให้ เริ่มตั้งแต่ ครั้งแรกปล่อยไปก่อน เพราะส่วนใหญ่จะอ้างว่านำมาเพื่อใช้เอง หากนำเข้ามาอีกเป็นครั้งที่ 2 จะว่ากล่าวตักเตือน และหากยังนำเข้ามาอีกเป็นครั้งที่ 3 จะถูกเก็บภาษีทันทีและไม่ให้โต้แย้งใดๆ ทั้งสิ้น
ถ้าถูกเรียกเก็บแล้วไม่ยอมเสียภาษี เพราะไม่เห็นด้วยกับการเก็บภาษีต้องถูกยึดของไว้เป็นของแผ่นดิน แต่ถ้าไม่ยอมให้ยึดต้องฟ้องร้องดำเนินคดีกันต่อไป อย่างไรก็ตาม หากไม่มีเงินเสียภาษีทันทีจะนำตัวไปทำพิธีการด้านภาษี มีเงินเมื่อไหร่ค่อยนำมาจ่าย
ส่วนใหญ่ผู้ที่ถูกเรียกเก็บภาษีจะยอมเสีย เพราะมูลค่าสินค้าจะสูงกว่าภาษี มีบ้างที่โวยวายต่อว่าเจ้าหน้าที่และอ้างว่าไม่รู้เกี่ยวกับคำเตือน
นี่เป็นอีกเหตุผลที่ต้องทำป้ายใหม่มาตั้งที่สนามบินสุวรรณภูมิ

http://money.sanook.com/195249/

ซื้อขาย-การโอนกรรมสิทธิ์ในสัญญาซื้อขาย(อ.บัญญัติ สุชีวะ)

การโอนกรรมสิทธิ์ในสัญญาซื้อขาย        ปัญหาว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายจะโอนไปยังผู้ซื้อ เมื่อใดนั้นเป็นปัญหาที่ยุ่งยากมาก แม้ว่าจะมีประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติในเรื่องนี้ไว้อยู่ไม่กี่มาตราก็ตาม และโดยเฉพาะที่บัญญัติโดยตรงในเรื่องการโอนกรรมสิทธิ์ก็มีอยู่เพียง 3 มาตราเท่านั้น คือมาตรา 498 มาตรา 459 และมาตรา 460
        เพื่อประโยชน์ในการทำความเข้าใจในปัญหาข้างต้น ขอแยกปัญหาของการโอนกรรมสิทธิ์ในสัญญาซื้อขายแต่ละประเภทดังนี้
สัญญาซื้อขายทรัพย์เฉพาะสิ่ง
สัญญาซื้อขายทรัพย์ที่ยังมิได้กำหนดไว้แน่นอน
สัญญาซื้อขายทรัพย์เฉพาะสิ่งซึ่งตามกฎหมายจะต้องทำเป็นหนังสือ และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
สัญญาซื้อขายที่มีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลา และ
สัญญาซื้อขายในกรณีพิเศษ คือ สัญญาซื้อขายตามตัวอย่าง สัญญาซื้อขายตามคำพรรณนา สัญญาซื้อขายเผื่อชอบ สัญญาซื้อขายทอดตลาด สัญญาซื้อขาย F.O.B. สัญญาซื้อขาย C.I.F. และสัญญาซื้อขาย Ex. Ship
[แก้ไข] สัญญาซื้อขายทรัพย์เฉพาะสิ่ง
        คำว่าทรัพย์เฉพาะสิ่งนี้ แม้จะมีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 460 วรรคสอง แต่ก็มิได้มีบทนิยามหรือคำอธิบายความหมายไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แต่ประการใดไม่ ผิดกับกฎมหายของอังกฤษคือ The Sale of Goods Act, 1893. ซึ่งมีบทนิยามของทรัพย์เฉพาะสิ่งไว้ในมาตรา 62 ว่า หมายถึง ทรัพย์ที่ได้บ่งตัวทรัพย์และซึ่งได้ตกลงกันไว้ในขณะทำสัญญาซื้อขาย (goods dentified and agreed upon at the time a contract of sale a made) แต่อย่างไรก็ตาม แม้จะมีบทนิยามไว้เช่นนั้น ก็ยังมีปัญหาเกี่ยวกับคำว่าบ่งตัวทรัพย์ (identified) ว่าจะต้องเป็นการบ่งแน่นอนเพียงใด ในคดี Kwsell v. Timber Operators & Contractors, Ltd; โจทก์ขายต้นไม้ในป่าแห่งหนึ่งให้จำเลย โดยจะต้องทำการวัดกันเสียก่อน จำเลยมีสิทธิที่จะตัดและขนไม้ไปได้ภายใน 15 ปี ต่อมามีกฎหมายออกมาให้ป่าไม้นั้นตกเป็นของแผ่นดิน ศาลอุทธรณ์ของอังกฤษตัดสินว่า กรรมสิทธิ์ในต้นไม้ยังไม่โอนเป็นของจำเลย เพราะยังถือไม่ได้ว่าเป็นทรัพย์ที่บ่งตัวทรัพย์ไว้แน่นอน เนื่องจากว่าสัญญาซื้อขายระบุขายเฉพาะต้นไม้ที่จะได้วัดกันแล้วเท่านั้น มิได้ตกลงขายเหมาต้นไม้ทั้งหมด
        เมื่อกฎหมายไทยมิได้มีบทนิยามเช่นนี้ คำว่าทรัพย์เฉพาะสิ่งจึงต้องมีความหมายอย่างเช่นคนธรรมดาสามัญเข้าใจกัน คือหมายถึงทรัพย์ที่ระบุเจาะจงลงไปว่าเป็นทรัพย์อะไร เช่น รถยนต์ ทรัพย์สิ่งใด เช่น รถยนต์คันไหน และทรัพย์จำนวนเท่าใด เช่น รถยนต์คันนั้น 1 คัน เป็นต้น หากระบุแต่เพียงรถยนต์ 1 คันเท่านั้น โดยไม่รู้ว่าเป็นรถยนต์คันไหน รถยนต์ 1 คันนั้น หาใช้ทรัพย์เฉพาะสิ่งไม่ เพราะยังกำหนดมิได้ว่าเป็นรถยนต์คันใด หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ทรัพย์เฉพาะสิ่งหมายถึง ทรัพย์ที่ผู้ซื้อรู้ได้แน่นอนว่าเป็นทรัพย์ใดที่ตนตกลงซื้อ และผู้ขายก็รู้ได้แน่นอนว่าเป็นทรัพย์ใดที่ตนตกลงขาย หากยังไม่สามารถรู้ได้ในขณะทำสัญญาซื้อขายว่าทรัพย์ที่ตกลงซื้อขายกันนั้นคือทรัพย์ใดแล้ว หาใช่เป็นการซื้อขายทรัพย์เฉพาะสิ่งไม่ เช่น ซื้อโค 2 ตัว จากโค 1 ฝูง ที่ผู้ขายมีอยู่มิใช่เป็นการซื้อขายทรัพย์เฉพาะสิ่ง แต่ถ้าตกลงกันในขณะซื้อขายว่า ซื้อโค 2 ตัวสีใด ลักษณะรูปร่างอย่างไร หรือเป็นตัวใด ดังนี้เป็นการซื้อขายทรัพย์เฉพาะสิ่งแล้ว
        การซื้อขายทรัพย์เฉพาะสิ่งนั้น กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ขายย่อมโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ขณะทำสัญญาซื้อขายกัน ทั้งนี้ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 458 ว่า “กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายนั้น ย่อมโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกัน”
        ตามบทบัญญัติมาตรา 458 นี้ แม้จะมิได้กล่าวว่าทรัพย์สินที่ขายนั้น จะต้องเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่งก็ตาม แต่มาตรานี้ ย่อมจะต้องหมายถึงการซื้อขายทรัพย์เฉพาะสิ่ง เพราะหากเป็นการซื้อขายทรัพย์ที่มิได้กำหนดไว้แน่นอน หรือมิใช่ทรัพย์เฉพาะสิ่งแล้ว ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้บัญญัติไว้ต่างหากอีกมาตราหนึ่ง คือ มาตรา 460 วรรคแรก และมาตรา 458 นี้ก็ยังหมายถึง ทรัพย์เฉพาะสิ่งที่กำหนดราคา หรือรู้ราคาไว้แน่นอนแล้วในขณะทำสัญญาซื้อขายแล้วเท่านั้น หากเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่งซึ่งยังจะต้องนับ ชั่ง ตวง วัด หรือทำการอย่างอื่น หรือทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกี่ยวแต่ทรัพย์สิน เพื่อให้รู้ราคาทรัพย์สินแน่นอนก็มีบัญญัติไว้ในวรรคสองของมาตรา 460
        คำว่า “ทำสัญญาซื้อขาย” ในมาตรา 458 นี้ หมายถึง “ทำสัญญาซื้อขายสำเร็จบริบูรณ์” ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 455 นั่นเอง เพราะมาตรา 455 บัญญัติว่า “เมื่อกล่าวต่อไปเบื้องหน้าถึงเวลาซื้อขาย ท่านหมายความว่า เวลาซึ่งทำสัญญาซื้อขายสำเร็จบริบูรณ์” และคำว่า “ทำสัญญาซื้อขาย” ในมาตรา 458 นี้ยังหมายถึงว่าต้องมิใช่เป็นการทำสัญญาซื้อขายที่มีเงื่อนไข หรือเงื่อนเวลาบังคับไว้ เพราะสัญญาซื้อขายที่มีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาบังคับไว้ได้มีมาตรา 458 บัญญัติไว้แล้ว
        อย่างไรจึงจะถือว่าเป็นการทำสัญญาซื้อขายสำเร็จบริบูรณ์ หรือที่นักฎหมายนิยมเรียกว่า “สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด” นั้น พระยาวิฑูรธรรมพิเนตุได้อธิบายไว้ในคำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะซื้อขายทรัพย์ ฯลฯ หน้า 11 – 16 ว่า “สัญญาซื้อขายเด็ดขาดนั้นเป็นการซื้อขายที่กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเปลี่ยนมือ หรือโอนมายังผู้ซื้อทันทีอย่างเด็ดขาด เมื่อการซื้อขายสำเร็จบริบูรณ์ การซื้อขายสำเร็จบริบูรณ์เมื่อใดนั้น นอกจากการตกลงแล้ว ต้องพิเคราะห์ถึงแบบแห่งสัญญาด้วย ถ้าการซื้อขายทรัพย์สินชนิดที่กฎหมายต้องการให้มีแบบแล้วต้องทำตามแบบ ฯลฯ” พระมนูธรรมวิมลศาสตร์ ได้อธิบายไว้ในคำสอนกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยซื้อขาย ฯลฯ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง หน้า 3 ว่า “สัญญาซื้อขายตามมาตรานี้ (มาตรา 453) หมายความเฉพาะแต่สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด ซึ่งมีการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายแล้ว หากกรรมสิทธิ์ยังไม่โอนมีเพียงข้อตกลงว่าจะโอนก็เป็นเพียงสัญญาจะซื้อจะขาย หรือเมื่อมีข้อตกลงว่ากรรมสิทธิ์ยังไม่โอนไปจากผู้ขายไปยังผู้ซื้อจนกว่าการจะได้เป็นไปตามเงื่อนไข หรือถึงกำหนดตามเงื่อนเวลาก็ไม่เป็นซื้อขายโดยเสร็จเด็ดขาด แต่เป็นการซื้อขายโดยมีเงื่อนไข (คือเงื่อนไขบังคับก่อน) หรือเงื่อนเวลา
        ตามกฎหมายอังกฤษคือ The Sale of Goods Act, 1893 มาตรา 1 (1) ให้ความหมายของสัญญาซื้อขาย (a contract of sale) ว่า “สัญญาซึ่งผู้ขายโอนหรือตกลงจะโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่ผู้ซื้อ เพื่อสินจ้างเป็นเงินที่เรียกว่า ราคา” และมาตรา 1 (3) บัญญัติว่า “ตามสัญญาซื้อขาย หากกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินโอนจากผู้ขายไปยังผู้ซื้อ สัญญานั้นเรียกว่าสัญญาซื้อขาย (a sale) แต่ถ้ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะโอนไปในภายหน้า หรือจะโอนไปเมื่อเงื่อนไขบางอย่างได้สำเร็จแล้ว สัญญานั้นเรียกว่าสัญญาจะซื้อขาย (an agreement to sell)”
        ความจริงสัญญาซื้อขายสำเร็จบริบูรณ์ หรือสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดนั้น หาจำเป็นจะต้องผูกมัดอยู่กับการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายเสมอไปไม่ สัญญาซื้อขายอาจสำเร็จบริบูรณ์ หรือเสร็จเด็ดขาดได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องโอนไปยังผู้ซื้อ ดังจะเห็นได้จากคำพิพากษาฎีกาที่ 1236/2497 ซึ่งวินิจฉัยว่า การตกลงซื้อขายโต๊ะบิลเลียด เป็นทรัพย์ที่แน่นอนมิได้มีกฎหมายห้ามมิให้โอนกันได้เอง แม้จะมีข้อตกลงกันมิให้กรรมสิทธิ์โอนไปก็เป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด สัญญาซื้อขายสำเร็จบริบูรณ์ หรือสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดนั้น จึงน่าจะมีความหมายถึงสัญญาซื้อขายซึ่งมิใช่สัญญาจะซื้อจะขายเท่านั้น ฉะนั้นสัญญาซื้อขายใดที่มิใช่สัญญาจะซื้อขายแล้ว ย่อมเป็นสัญญาซื้อขายสำเร็จบริบูรณ์ หรือสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดทั้งสิ้น แต่เนื่องจากสัญญาจะซื้อจะขายนั้นเป็นสัญญาที่กรรมสิทธิ์ยังไม่โอนไปเป็นของผู้ซื้อ หรือเป็นสัญญาที่จะไปโอนกรรมสิทธิ์ให้ในภายหลัง ฉะนั้นสัญญาซื้อขายใดที่ตกลงให้กรรมสิทธิ์ตกไปเป็นของผู้ซื้อทันที สัญญาซื้อขายนั้นย่อมเป็นสัญญาซื้อขายสำเร็จบริบูรณ์หรือสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดโดยไม่มีปัญหา แต่ทั้งนี้มิได้หมายความในทางกลับกันว่า สัญญาซื้อขายที่ตกลงมิให้กรรมสิทธิ์โอนไปยังผู้ซื้อในขณะทำสัญญา จะต้องเป็นสัญญาจะซื้อขายเสมอไป เพราะอาจเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดโดยมีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาบังคับไว้ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 459 ก็ได้ซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะยังไม่โอนไปจนกว่าการจะได้เป็นไปตามเงื่อนไขหรือถึงกำหนดเงื่อนเวลานั้นแล้ว ฉะนั้นที่มาตรา 458 บัญญัติให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ขณะเมื่อทำสัญญาซื้อขายนั้น จึงใช้บังคับเฉพาะเมื่อเป็นการซื้อขายสำเร็จบริบูรณ์ หรือเป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาดโดยไม่มีเงื่อนไข หรือเงื่อนเวลาอย่างใดกำหนดไว้ในสัญญาเท่านั้น และใช้บังคับเฉพาะการซื้อขายทรัพย์เฉพาะสิ่งที่กำหนดราคาหรือทราบราคาแน่นอนแล้วในขณะทำสัญญา
        สำหรับสัญญาซื้อขายทรัพย์เฉพาะสิ่งซึ่งตามกฎหมายจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นั้น จะได้แยกกล่าวในภายหลัง แม้ว่าจะเป็นเรื่องกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ขาย ย่อมโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ขณะทำสัญญาซื้อขาย ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 458 เช่นเดียวกันก็ตาม
[แก้ไข] ผลของการที่กรรมสิทธิ์โอนไปยังผู้ซื้อนั้น ตามกฎหมายอังกฤษ(1) จะทำให้
ภัยพิบัติ (risk) ในทรัพย์สินที่ซื้อตามปรกติย่อมโอนไปพร้อมกรรมสิทธิ์ด้วย
ถ้าเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่ง (specific goods) และกรรมสิทธิ์ได้โอนไปยังผู้ซื้อแล้ว ผู้ซื้อจะปฏิเสธไม่ยอมซื้อเพราะเหตุผู้ขายกระทำผิดเงื่อนไขในสัญญา (breach of condition) มิได้เพียงแต่เรียกค่าสินไหมทดแทนได้เท่านั้น
ถ้ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายยังไม่โอนไปยังผู้ซื้อ ผู้ขายไม่มีสิทธิฟ้องเรียกราคาทรัพย์ที่ขาย ฯลฯ
        หลักเกณฑ์ดังกล่าวแม้จะเป็นหลักกฎหมายอังกฤษ แต่ก็น่าจะนำมาปรับกับหลักกฎหมายไทยเช่นกัน
        เกี่ยวกับการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์เฉพาะสิ่งดังกล่าวมาข้างต้น จะศึกษาตัวอย่างได้จากคำพิพากษาฎีกาดังต่อไปนี้
        คำพิพากษาฎีกาที่ 609/2472 ขายยาเส้น 2250 ม้วน ราคา 1,462 บาท 50 สตางค์ ผู้ซื้อชำระราคาแล้ว แต่ให้ผู้ขายส่งยาเส้นไปที่สถานีเพชรบุรี เมื่อผู้ขายบรรทุกยาไปถึงสถานีเพชรบุรีแล้ว ถือว่ากรรมสิทธิ์โอนเป็นของผู้ซื้อแล้ว
        คำพิพากษาฎีกาที่ 864/2472 ยอมความกันว่า “จำเลยยอมซื้อโรงสีโดยจำเลยออกเงินใช้โจทก์ผู้เป็นหุ้นส่วน 6,000 บาทแล้ว โจทก์จะไม่เกี่ยวข้องกับโรงสีต่อไป โดยหมดสิทธิ์ มอบให้ฝ่ายจำเลยเป็นเจ้าของแต่ผู้เดียว แต่จำเลยขอผัดใช้เงินให้เสร็จภายใน 8 เดือน ถ้าไม่ใช้ยอมให้ปรับและนำยึดทรัพย์” ถือว่าการซื้อขายสำเร็จบริบูรณ์ตั้งแต่วันทำยอมความ ทรัพย์สมบัติของหุ้นส่วนตกเป็นของจำเลยแต่ผู้เดียว
        คำพิพากษาฎีกาที่ 779/2482 การซื้อขายรถยนต์กรรมสิทธิ์โอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ทำสัญญาซื้อขายต่อกัน ไม่ใช่โอนไปในขณะที่ทำการโอนทะเบียน เพราะมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ. รถยนต์ พ.ศ. 2473 เป็นบทบัญญัติเพื่อสะดวกแก่การควบคุมของเจ้าพนักงานเท่านั้น (คำพิพากษาฎีกาที่ 304 – 305 / 2494 และ 1687/2506 ก็วินิจฉัยอย่างเดียวกัน)
        คำพิพากษาฎีกาที่ 988/2482 ขายข้าวเปลือกให้เขา 6 กระสอบ เป็นเงิน 12 บาท ผู้ซื้อตกลงและชำระราคาแล้ว นัดให้ผู้ขายบรรทุกไปส่งในวันรุ่งขึ้น แม้กรรมสิทธิ์เป็นของผู้ซื้อแล้ว แต่ผู้ขายยังครอบครองอยู่ เมื่อผู้ขายเอาข้าวไปขายผู้อื่น ไม่ผิดฐานลักทรัพย์
        คำพิพากษาฎีกาที่ 723/2492 ทำสัญญาซื้อน้ำตาล 310 หาบ ซึ่งบรรจุกระสอบไว้เต็มทั้ง 310 กระสอบ กระสอบละ 1 หาบ และน้ำตาลนี้เก็บไว้เป็นส่วนสัด ไม่ต้องชั่ง ตวง วัดอีก เมื่อผู้ซื้อชำระราคาแล้ว เมื่อทางราชการบังคับซื้อ ผู้ขายไม่ต้องรับผิด แต่ถ้าน้ำตาลที่ซื้อยังไม่อยู่ที่ผู้ขาย เพราะผู้ขายซื้อจากผู้อื่น และแยกเก็บไว้ยังที่ต่าง ๆ และผู้ซื้อยังมิได้ตรวจและชำระราคา เป็นแต่วางมัดจำไว้ และให้ผู้ขายนำน้ำตาลไปส่งผู้ซื้อถึงท่าเรือที่ผู้ซื้อจะนำเรือมารับ ยังไม่เป็นการซื้อขายเด็ดขาด น้ำตาลขาดหายไป ผู้ขายต้องรับผิด
        คำพิพากษาฎีกาที่ 1223/2496 ทำสัญญาขายอิฐ 2 เตา ประมาณ 220,000 แผ่น ซึ่งอยู่ที่ลานเป็นเงิน 7,000 บาท ดังนี้เป็นการขายอิฐเป็นเตาซึ่งมีจำนวนแน่นอนคือ 2 เตา และราคาก็แน่นอนคือ 7,000 บาท แม้จะกล่าวถึงจำนวนอิฐไว้ด้วย ก็เป็นการกล่าวโดยประมาณกรรมสิทธิ์ในอิฐย่อมผ่านจากผู้ขายไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ขณะทำสัญญากันแล้ว กรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 460
        คำพิพากษาฎีกาที่ 9/2505 ตกลงซื้อผลลำใยในสวนขณะลำใยกำลังออกดอก โดยชำระราคากันบางส่วนแล้ว และให้ผู้ซื้อเป็นผู้ครอบครองดูแลรักษาต้นลำใยเอง ผลได้เสียเป็นของผู้ซื้อ ถ้าเกิดเสียหายอย่างใด ผู้ขายไม่ต้องคืนเงิน ถ้าได้ผลมากก็เป็นของผู้ซื้อฝ่ายเดียว เป็นการเสี่ยงโชคโดยคำนวณจากดอกลำใยและสุดแต่ดินฟ้าอากาศจะอำนวยให้ ดังนี้ถือว่าคู่สัญญาได้ตกลงซื้อขายกันแน่นอนแล้ว โดยคำนวณจากดอกลำใยเป็นหลัก ต่อมาถ้าต้นลำใยถูกพายุพัดหักหมด ผู้ซื้อจะเรียกเงินคืนจากผู้ขายมิได้
        คำพิพากษาฎีกาที่ 1832/2505 ซื้อข้าวสาร 40 กระสอบ ราคากระสอบละ 210 บาท ผู้ซื้อได้ขนข้าวไปจากผู้ขายแล้ว สัญญาซื้อขายเด็ดขาดก็เกิดขึ้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 453, 460 การซื้อขายรายนี้เมื่อมีการส่งมอบกันแล้วเป็นอันสมบูรณ์ตามกฎหมาย โดยไม่จำต้องทำเป็นหนังสือ
        คำพิพากษาฎีกาที่ 1283/2513 ทำสัญญาซื้อรถยนต์พร้อมทั้งอุปกรณ์เป็นการซื้อเหมา และทรัพย์ที่ซื้อขาย มีจำนวนแน่นอนไม่จำเป็นต้องมีการตรวจนับอย่างใดอีก ดังนั้นกรรมสิทธิ์ในทรัพย์นี้ย่อมโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ขณะทำสัญญาซื้อขายกันตามมาตรา 458 การส่งมอบทรัพย์เป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหากไม่เกี่ยวกับการโอนกรรมสิทธิ์
        ถ้าเป็นการซื้อขายทรัพย์เฉพะาสิ่งซึ่ง ยังไม่อาจจะรู้ราคาทรัพย์นั้นได้ จนกว่าจะมีการนับ ชั่ง ตวง วัด หรือทำการอย่างใดเกี่ยวกับทรัพย์นั้นเสียก่อน เช่น ซื้อข้าวเปลือกในยุ้งทั้งหมดในราคาถังละ 20 บาท หรือซื้อส้มทั้งกองในราคร้อยละ 200 บาท เช่นนี้ยังไม่อาจจะรู้ราคาแน่นอนได้ จนกว่าจะมีการตวงข้าวในยุ้งว่ามีกี่ถัง หรือนับส้มทั้งกองว่ามีกี่ผลเสียก่อน กรณีเช่นนี้แม้จะเป็นสัญญาซื้อขายสำเร็จบริบูรณ์แล้ว กรรมสิทธิ์ในทรัพย์เฉพาะสิ่งนั้นจะยังไม่โอนไปยังผู้ซื้อจนกว่าจะได้มีการนับชั่ง ตวง วัด หรือทำการอย่างใดเกี่ยวกับทรัพย์นั้นแล้ว ทั้งนี้ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 460 วรรคสองว่า “ในการซื้อขายทรัพย์สินเฉพาะสิ่ง ถ้าผู้ขายยังจะต้องนับ ชั่ง ตวง วัด หรือทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดอันเกี่ยวแก่ทรัพย์สิน เพื่อให้รู้กำหนดราคาทรัพย์สินนั้นแน่นอน ท่านว่ากรรมสิทธิ์ยังไม่โอนไปยังผู้ซื้อจนกว่าการหรือสิ่งนั้นทำแล้ว”
        เกี่ยวกับทรัพย์เฉพาะสิ่งที่ยังไม่รู้ราคาแน่นอนนั้น มีคำพิพากษาฎีกาที่ 339/2506 วินิจฉัยดังนี้ จำเลยตกลงขายไม้ในโรงเลื่อยให้โจทก์ โดยเจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้วัดไม้ตีตรากรรมสิทธิ์ได้ไม้ครบตามสัญญาและชำระราคาแล้ว กรรมสิทธิ์ในไม้นั้นย่อมโอนไปยังโจทก์ หากไฟไหม้ไม้นั้นเสียหายเพราะเหตุอันจะโทษจำเลยมิได้ การสูญหรือเสียหายย่อมตกเป็นพับแก่โจทก์
[แก้ไข] สัญญาซื้อขายทรัพย์ที่ยังมิได้กำหนดไว้แน่นอน
        ทรัพย์ที่ยังมิได้กำหนดไว้แน่นอนนั้น หมายถึงทรัพย์ที่ในขณะทำสัญญาซื้อขาย ยังมิได้กำหนดให้รู้แน่ชัดลงไปว่าเป็นทรัพย์ใด ซึ่งอาจจะเป็นทรัพย์ที่มีอยู่แล้วในขณะทำสัญญาซื้อขาย แต่ยังไม่รู้ตัวทรัพย์ที่แน่นอน หรืออาจเป็นทรัพย์ที่ผู้ขายจะมีในภายหน้าจึงยังไม่รู้ตัวทรัพย์แน่นอนก็ได้ ทรัพย์เช่นนี้แม้จะตกลงซื้อขายกัน ผู้ขายก็ยังไม่สามารถส่งมอบตัวทรัพย์ให้แก่ผู้ซื้อได้ จนกว่าจะได้มีการนับ ชั่ง ตวง วัด คัดเลือก หรือทำการอย่างใดให้รู้ตัวทรัพย์แน่นอนแล้ว เช่น ซื้อมะพร้าว 100 ผล จากมะพร้าวที่อยู่ในเรือทั้งลำ หรือซื้อข้าวเปลือก 100 ถัง จากข้าวเปลือกที่อยู่ในยุ้ง
        ตามกฎหมายอังกฤษ(1) ทรัพย์ที่ยังมิได้กำหนดไว้แน่นอน (unascertained goods) แม้จะมิได้มีคำนิยามไว้ในกฎหมายแต่ก็พอจะหมายถึง
ทรัพย์ที่ผู้ขายจะต้องทำหรือปลูกขึ้น (goods to be manufactured or grown by the seller)
ทรัพย์ที่กำหนดไว้แต่เพียงชนิดหรือประเภทเท่านั้น (purely generic goods) เช่น ข้าวสาลี 100 ต้น
ทรัพย์เฉพาะสิ่งส่วนใดส่วนหนึ่งที่ยังมิได้บ่งระบุไว้แน่นอน (an unidentified part of a specified whole) เช่น ข้าวสาลี 100 ต้นจากข้าวสาลีทั้งหมดที่มีอยู่ 280 ตัน
[แก้ไข] คำอธิบายดังกล่าวน่าจะนำมาใช้กับกฎหมายไทยได้เช่นกัน
        การซื้อขายทรัพย์ที่ยังมิได้กำหนดไว้แน่นอนนั้น กรรมสิทธิ์ในทรัพย์จะยังไม่โอนไปยังผู้ซื้อ จนกว่าจะได้ทำสัญญาซื้อขายสำเร็จบริบูรณ์แล้ว และได้มีการหมายนับ ชั่ง ตวง วัด คัดเลือก หรือทำการอย่างใดเพื่อให้รู้ตัวทรัพย์นั้นแน่นอนแล้ว ทั้งนี้ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 460 วรรคแรก ดังนี้ “ในการซื้อขายทรัพย์สินซึ่งมิได้กำหนดลงไว้แน่นอนนั้น ท่านว่ากรรมสิทธิ์ยังไม่โอนไปจนกว่าจะได้หมายหรือนับ ชั่ง ตวง วัด หรือคัดเลือก หรือทำโดยวิธีอื่น เพื่อให้บ่งตัวทรัพย์สินนั้นออกเป็นแน่นอนแล้ว” ตัวอย่างเรื่องนี้จะเห็นได้จากคำพิพากษาฎีกาที่ 2050/2493 ซึ่งวินิจฉัยว่า ขายยาง (พารา) ซึ่งเก็บไว้ในโรงซึ่งมีของผู้อื่นเก็บรวมอยู่ด้วย แต่ผู้ขายยังไม่ได้แยกเป็นส่วนสัดเป็นแต่ตกลงมาว่าจะเอาออกชั่งเมื่อส่งมอบ ดังนี้ก่อนแบ่งแยกออกชั่ง กรรมสิทธิ์ยังไม่โอนเป็นของผู้ซื้อมาตามมาตรา 460
[แก้ไข] สัญญาซื้อขายทรัพย์เฉพาะสิ่งซึ่งตามกฎหมายจะต้องทำเป็นหนังสือ และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
        ทรัพย์ซึ่งตามกฎหมายการซื้อขายจะสำเร็จบริบูรณ์ หรือเสร็จเด็ดขาดก็ต่อเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นั้น ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ เรือกำปั่น หรือเรือที่มีระวางตั้งแต่ 6 ตันขึ้นไป เรือกลไฟหรือเรือยนต์ที่มีระวางตั้งแต่ 5 ตันขึ้นไป แพ (ที่คนอยู่อาศัย) และสัตว์พาหนะ (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456) สำหรับสัตว์พาหนะนั้นหมายถึง ช้าง ม้า โค กระบือ ล่อ และลา ซึ่งได้ทำและต้องทำตั๋วรูปพรรณตามพระราชบัญญัติสัตว์พาหนะ พ.ศ. 2482 มาตรา 4 และสัตว์ดังกล่าวจะต้องทำตั๋วพิมพ์รูปพรรณตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 8 ดังนี้
ช้างมีอายุย่างเข้าปีที่ 8 สัตว์อื่นนอกจากโคตัวเมียมีอายุย่างเข้าปีที่ 6
สัตว์ที่ได้ใช้ขับขี่ลากเข็นหรือใช้งานได้แล้ว
สัตว์ที่มีอายุย่างเข้าปีที่ 4 เมื่อจะนำออกนอกราชอาณาจักร โคตัวเมียเมื่อมีอายุย่างเข้าปีที่ 6 เมื่อจะทำการโอนกรรมสิทธิ์เว้นแต่ในกรณีรับมรดก
สัตว์นอกจากข้อ 1 ถึง 3 เจ้าของจะขอจดทะเบียนทำตั๋วพิมพ์รูปพรรณก็ได้
        ทรัพย์ดังกล่าวเมื่อซื้อขาย กรรมสิทธิ์ในทรัพย์นั้นจะโอนไปยังผู้ซื้อก็ต่อเมื่อได้ทำเป็นหนังสือ และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว หากเพียงทำสัญญาเป็นหนังสืออย่างเดียวโดยมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แม้จะได้ชำระราคาเรียบร้อยแล้ว ก็หาถือเป็นการซื้อขายสำเร็จบริบูรณ์ไม่ ดังนั้นกรรมสิทธิ์จะยังไม่โอนไปยังผู้ซื้อจนกว่าจะได้ปฏิบัติการให้ครบถ้วนตามมาตรา 456 แล้ว หากทำสัญญาซื้อขายทรัพย์ดังกล่าวโดยสัญญาว่าจะไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในภายหลัง ดังนี้กรรมสิทธิ์จะยังไม่โอนไปยังผู้ซื้อจนกว่าจะได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว คำพิพากษาฎีกาที่ 477/2492 วินิจฉัยว่าสัญญาซื้อขายที่ดินที่มีข้อความว่า จะไปทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ในภายหลัง เป็นเพียงสัญญาจะซื้อขาย แม้ผู้ขายจะมอบให้ผู้ซื้อเข้าครอบครองที่ดิน ก็เป็นการอนุญาตให้ผู้ซื้อเข้าใช้และรับประโยชน์ไปพลางก่อนเท่านั้น เป็นการครอบครองโดยอาศัยอำนาของจำเลย ผู้ซื้อยังไม่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิใดในที่ดินนั้น
        ถ้าเป็นการซื้อขายที่ดินที่ยังไม่มีโฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) การซื้อขายที่ดินเช่นนั้นไม่อาจจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ เพราะประมวลกฎหมายที่ดินมิได้บัญญัติอนุญาตให้ทำได้ ฉะนั้นที่ดินดังกล่าวคือที่ดินที่มีเพียงสิทธิ์ครอบครองเท่านั้น จึงอาจซื้อขายกันได้โดยเพียงส่งมอบที่ดินนั้นให้ผู้ซื้อเข้าครอบครอง และผู้ขายสละเจตนาครอบครองให้ผู้ซื้อย่อมได้ไปซึ่งสิทธิครอบครองในที่ดินมือเปล่านั้นทันที (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1377, 1378 และ 1367)
        ถ้าเป็นการซื้อขายส่วนควบของทรัพย์ (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 107) ที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ เช่น บ้านหรือตึกแถวสิ่งปลูกอยู่บนที่ดิน และหากผู้ซื้อเป็นเจ้าของที่ดิน ซึ่งเป็นทรัพย์ประธานอยู่แล้ว ผู้ซื้อย่อมได้กรรมสิทธิ์ในส่วนควบนั้นทันทีโดยไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนการซื้อขายส่วนควบนั้นอีก ทั้งนี้โดยอาศัยบทบัญญัติของมาตรา 107 วรรคสองที่ว่า “ใครเป็นเจ้าของทรัพย์อันใดย่อมมีกรรมสิทธิ์ในบรรดาส่วนควบทั้งหลายของทรัพย์อันนั้น” ทั้งนี้ดังจะเห็นได้จากคำพิพากษาฎีกาที่ 2105/2511 ที่วินิจฉัยว่า ซื้อเฉพาะแต่ที่ดินซึ่งมีเรือนปลูกอยู่ด้วย ต่อมาผู้ขาย ขายเรือนให้อีก เรือนย่อมตกเป็นส่วนควบทันทีที่ได้ทำสัญญาซื้อขาย โดยไม่ต้องจดทะเบียนการซื้อขายอีก
[แก้ไข] สัญญาซื้อขายที่มีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลา
        คำว่าเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลานี้ย่อมหมายถึง เงื่อนไขบังคับก่อนตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 144, 145 และเงื่อนเวลาเริ่มต้นตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 153 แต่เหตุการณ์ที่เป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม หรือเป็นผลที่จะพึงบังเกิดขึ้นเองตามกฎหมาย เช่น แดงตกลงกับขาวว่า ต่อเมื่อขาวขายหนังสือให้แดงจึงจะใช้ราคาให้ ดังนี้การที่ต้องใช้ราคาเป็นผลในกฎหมายที่จะเกิดขึ้นจากการซื้อขายอยู่ในตัวแล้ว ไม่ใช่เหตุการณ์ความเป็นไปในอนาคตไม่แน่นอน แม้ไม่กำหนดกันไว้ก็ยังจะต้องเป็นไปตามนั้น จึงมิใช่เงื่อนไขข้อเหนี่ยวรั้งผลของนิติกรรมมิให้เกิดขึ้น(1) ฉะนั้นข้อตกลงเกี่ยวกับการโอนว่าผู้ซื้อผู้ขายจะมาทำการโอนกันในวันจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดิน จึงมิใช่เงื่อนไข (คำพิพากษาฎีกาที่ 298/2495) แต่ถ้าตกลงกันว่ากรรมสิทธิ์ยังไม่เป็นของผู้ซื้อจนกว่าจะชำระราคาเสร็จ ถือเป็นเงื่อนไขแล้ว เพราะการจะชำระราคาเสร็จหรือไม่เป็นเหตุการณ์ในอนาคต และไม่แน่นอน ดังที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 144 คำพิพากษาฎีกาที่ 127/2471 วินิจฉัยว่า ทำสัญญาซื้อขายว่าผู้ซื้อซื้อเครื่องโรงสีข้าวจากผู้ขาย โดยผู้ซื้อต้องผ่อนชำระเงินครั้งแรกเป็นจำนวนหนึ่ง และที่เหลือจะใช้ให้เสร็จภายใน 2 ปี แต่เครื่องโรงสีข้าวยังเป็นของผู้ขายจนกว่าจะใช้เงินเสร็จ ดังนี้เป็นสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไขตามมาตรา 459 คำพิพากษาฎีกาที่ 716 – 717/2493 ซื้อขายรถยนต์โดยผู้ซื้อขายมีเงื่อนไขตามมาตรา 459 คำพิพากษาฎีกาที่ 716 – 717/2493 ซื้อขายรถยนต์โดยผู้ซื้อรับมอบรถยนต์ไปและตกลงกันว่า ผู้ซื้อจะต้องชำระราคาให้หมดเสียก่อน ผู้ขายจึงจะโอนทะเบียนให้เป็นสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไข
        ส่วนเงื่อนเวลาเริ่มต้นนั้นเป็นการตกลงกันมิให้กรรมสิทธิ์โอนไปยังผู้ซื้อ จนกว่าจะถือวันใดวันหนึ่ง เช่น ซื้อรถยนต์ ชำระราคาเรียบร้อยแล้ว แต่ตกลงว่าผู้ขายจะต้องซ่อมแซมรถให้ดีเสียก่อนและส่งมอบให้ในวันที่ 1 มกราคม 2519 ดังนี้เป็นสัญญามีเงื่อนเวลา
        สัญญาซื้อขายมีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลา กรรมสิทธิ์ยังไม่โอนไปยังผู้ซื้อจนกว่าเงื่อนไขนั้นสำเร็จ หรือถึงกำหนดเวลานั้นแล้ว ทั้งนี้ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 459 ว่า “ถ้าสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาบังคับไว้ ท่านว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินยังไม่โอนไปจนกว่าจะได้เป็นไปตามเงื่อนไขหรือถึงกำหนดเวลานั้น”
        สัญญาซื้อขายที่มีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลานั้น ความจริงก็เป็นสัญญาซื้อขายที่สำเร็จบริบูรณ์แล้ว มิใช่สัญญาจะซื้อจะขาย ซึ่งตามธรรมดากรรมสิทธิ์ในทรัพย์ ที่ขายควรจะโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ขณะทำสัญญาซื้อขายกันแล้ว แต่เนื่องจากมีเงื่อนไขบังคับก่อนหรือมีเงื่อนเวลาเริ่มต้นบังคับไว้ กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ขายจึงยังไม่โอนจนกว่าจะเป็นไปตามเงื่อนไขหรือถึงกำหนดเวลาตามที่ตกลงกันไว้
[แก้ไข] สัญญาซื้อขายในกรณีพิเศษ
        1. สัญญาซื้อขายตามตัวอย่าง สัญญาซื้อขายตามตัวอย่างนั้น คือสัญญาซื้อขายซึ่งผู้ขายจำต้องส่งมอบทรัพย์สินให้ตรงตามตัวอย่าง (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 503 วรรคแรก) ฉะนั้นสัญญาซื้อขายชนิดนี้จะถือว่าสัญญาสำเร็จบริบูรณ์ก็ต่อเมื่อได้มีการส่งมอบทรัพย์ตามตัวอย่างที่ผู้ขายได้เสนอขายต่อผู้ซื้อแล้ว หากทรัพย์ที่ส่งมอบไม่ตรงตามตัวอย่าง ผู้ซื้อมีสิทธิปฏิเสธไม่ยอมซื้อได้ ดังนั้นแม้ผู้ขายจะส่งมอบทรัพย์ให้แก่ผู้ซื้อแล้วก็ตาม ถ้าผู้ซื้อยังไม่มีโอกาสตรวจดูทรัพย์นั้นว่าตรงตามตัวอย่างที่ผู้ขายเสนอขายหรือไม่ จะถือว่าเป็นการซื้อขายสำเร็จบริบูรณ์มิได้ การซื้อขายตามตัวอย่างนี้กรรมสิทธิ์ย่อมโอนไปยังผู้ซื้อ เมื่อการซื้อขายนั้นได้สำเร็จบริบูรณ์แล้ว กล่าวคือเมื่อผู้ซื้อได้ตรวจดูทรัพย์นั้นเป็นที่พอใจแล้วว่าตรงตามตัวอย่าง และได้รับมอบทรัพย์นั้นแล้ว หากผู้ซื้อยังไม่รับมอบทรัพย์โดยมีข้ออ้างว่าไม่ตรงตามตัวอย่างการซื้อขายหาสำเร็จบริบูรณ์ไม่ ฉะนั้น กรรมสิทธิ์ในทรัพย์นั้นจึงยังไม่โอนไปยังผู้ซื้อ
        2. สัญญาซื้อขายตามคำพรรณนา สัญญาซื้อขายตามคำพรรณนาคือ สัญญาซื้อขายซึ่งผู้ขายจำต้องส่งมอบทรัพย์สินให้ตรงตามคำพรรณนา (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 503 วรรคสอง) การซื้อขายเช่นนี้เป็นเรื่องที่ผู้ซื้อตกลงซื้อทรัพย์โดยเชื่อคำพรรณนาเกี่ยวกับคุณภาพ ลักษณะหรือรูปร่างสีสรรของทรัพย์ซึ่งผู้ขายได้พรรณาไว้ ฉะนั้นสัญญาจะสำเร็จบริบูรณ์ก็ต่อเมื่อผู้ขายได้ส่งมอบทรัพย์ที่ตรงตามคำพรรณนาให้แก่ผู้ซื้อแล้ว การซื้อขายชนิดนี้ ผู้ซื้อต้องมีการตรวจตราทรัพย์ที่ส่งมอบนั้นว่าตรงตามคำพรรณนาหรือไม่ หากไม่ตรงตามคำพรรณนา ผู้ซื้อมีสิทธิปฏิเสธไม่ยอมรับซื้อได้ ผู้ซื้อมีสิทธิปฏิเสธไม่ยอมรับซื้อได้ คำพิพากษาฎีกาที่ 2010/2500 วินิจฉัยว่า การซื้อขายตามแค๊ตตาล็อคและคำพรรณนาเป็นการซื้อขายตามคำพรรณนา เมื่อผู้ขายส่งของไม่ตรงตามคำพรรณนาผู้ซื้อเลิกสัญญาได้
        สัญญาซื้อขายตามคำพรรณนาก็เช่นเดียวกับสัญญาซื้อขายตามตัวอย่าง กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ขายย่อมโอนไปยังผู้ซื้อเมื่อสัญญาซื้อขายได้สำเร็จบริบูรณ์แล้ว คือเมื่อผู้ซื้อได้ตรวจตราทรัพย์จนเป็นที่พอใจว่า ตรงตามคำพรรณนาและรับมอบทรัพย์ไว้แล้ว
        3. สัญญาซื้อขายเผื่อชอบ สัญญาซื้อขายเผื่อชอบคือ สัญญาซื้อขายโดยมีเงื่อนไขว่า ให้ผู้ซื้อได้มีโอกาสตรวจดูทรัพย์สินก่อนรับซื้อ (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 505) การซื้อขายเช่นนี้ผู้ขายต้องให้ผู้ซื้อมีโอกาสตรวจตราทรัพย์สินที่จะซื้อก่อนที่จะตกลงทำสัญญาซื้อขายกัน หากผู้ซื้อตรวจดูแล้วไม่พอใจที่จะซื้อ สัญญาซื้อขายก็ยังไม่เกินขึ้น ดังนั้นสัญญาซื้อขายเผื่อชอบจะสำเร็จบริบูรณ์ก็ต่อเมื่อผู้ซื้อได้ตกลงรับซื้อหรือตกลงทำสัญญาซื้อขายทรัพย์นั้นแล้ว แต่ถ้าผู้ซื้อได้รับมอบทรัพย์จากผู้ขายเพื่อให้ตรวจดู และผู้ซื้อมิได้ตอบให้ผู้ขายทราบว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 508 บัญญัติว่า การซื้อขายย่อมบริบูรณ์ในกรณีดังต่อไปนี้
ถ้าผู้ซื้อมิได้บอกกล่าวว่าไม่ยอมรับซื้อภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา หรือโดยประเพณี หรือโดยคำบอกกล่าว
ถ้าผู้ซื้อไม่ส่งทรัพย์สินคืนภายในเวลาดังกล่าวมานั้น
ถ้าผู้ซื้อใช้ราคาทรัพย์สินนั้นสิ้นเชิง หรือแต่บางส่วน
ถ้าผู้ซื้อจำหน่ายทรัพย์สินนั้น หรือทำประการอื่นอย่างใดอันเป็นปริยายว่ารับซื้อของนั้น
        สัญญาซื้อขายเผื่อชอบนี้ กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ขายย่อมโอนไปยังผู้ซื้อ เมื่อสัญญาซื้อขายสำเร็จบริบูรณ์แล้ว กล่าวคือเมื่อผู้ซื้อตกลงรับซื้อหรือเมื่อตกลงทำสัญญาซื้อขาย หรือเมื่อมีพฤติการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 508
        4. สัญญาขายทอดตลาด สัญญาขายทอดตลาดคือ สัญญาซื้อขายซึ่งการขายทรัพย์จะต้องกระทำโดยเปิดเผย โดยวิธีโฆษณาให้บุคคลทั่วไปมีโอกาสทราบ และการซื้อกระทำโดยวิธีสู้ราคา ในระหว่างผู้ซื้อด้วยกัน การซื้อขายเช่นนี้ถือว่าสำเร็จบริบูรณ์เมื่อผู้ขายทอดตลาดแสดงความตกลงด้วยเคาะไม้ หรือด้วยกิริยาอย่างอื่นตามจารีตประเพณีในการขายทอดตลาด หากยังไม่มีการแสดงความตกลงเช่นนั้นอยู่ตราบใด ผู้ซื้อซึ่เข้าสู้ราคาจะถอนคำสู้ราคาของตนก็ได้ และถ้าผู้ทอดตลาดเห็นว่าราคาซึ่งมีผู้สู้สูงสุดนั้นยังไม่เพียงพอ ผู้ทอดตลาดอาจถอนทรัพย์จากการขายทอดตลาดได้ (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 509, 510 และ 513)
        กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายทอดตลาดนั้น ตามปกติแล้วย่อมโอนไปยังผู้ซื้อเมื่อถือว่า การขายทอดตลาดได้สำเร็จบริบูรณ์ โดยวิธีเคาะไม้หรือด้วยกิริยาอย่างอื่นตามจารีตประเพณี ในการขายทอดตลาด เว้นเสียแต่ว่าจะมีเงื่อนไขเงื่อนเวลา หรือข้อความอื่นแจ้งให้ทราบไว้ในคำโฆษณา หรือซึ่งผู้ทอดตลาดได้ประกาศให้ทราบก่อนที่จะมีการสู้ราคา ในกรณีเช่นนี้ กรรมสิทธิ์จะโอนไปยังผู้ซื้อก็ต่อเมื่อเงื่อนไขได้สำเร็จหรือถึงกำหนดตามเงื่อนเวลา หรือผู้ซื้อได้ปฏิบัติตามข้อความที่ผู้ทอดตลาดประกาศให้ทราบ
        มีคดีของศาลอังกฤษคดีหนึ่ง คือ Dennant v. Skinner and Collom(1) ข้อเท็จจริงมีว่า ก. เข้าสู้ราคารถยนต์คันหนึ่งจากการขายทอดตลาด และเป็นผู้ให้ราคาสูงสุด ผู้ทอดตลาดได้เคาะให้ตกลงขายให้ ก. ก. ออกเช็คให้และขอรับรถยนต์ ผู้ทอดตลาดตกลงแต่ให้ ก. ทำบันทึกมีข้อความว่า เช็คนั้นมีเงินในธนาคารพอจ่าย และกรรมสิทธิ์ในรถยนต์จะยังไม่โอนเป็นของ ก. จนกว่าจะขึ้นเงินตามเช็คนั้นได้แล้ว ต่อมา ก. นำรถยนต์คันนั้นไปขายให้ ข. ปรากฏว่าเช็คขึ้นเงินไม่ได้ ผู้ทอดตลาดจึงฟ้องเรียกรถยนต์คันนั้นคืนจาก ข. ศาลพิพากษาว่าผู้ทอดตลาดเรียกรถยนต์คืนจาก ข. มิได้ เพราะกรรมสิทธิ์ในรถยนต์โอนเป็นของ ก. ตั้งแต่ได้เคาะไม้แล้ว ฉะนั้นบันทึกของ ก. ที่มิให้กรรมสิทธิ์เป็นของ ก. จนกว่าเช็คจะขึ้นเงินได้จึงไม่มีผล เมื่อรถยนต์เป็นกรรมสิทธิ์ของ ก. แล้ว ข. ผู้ซื้อรถยนต์จาก ก. จึงได้กรรมสิทธิ์รถยนต์นั้นไปโดยชอบ แต่ถ้าในการขายทอดตลาดได้มีการโฆษณาสงวนราคาขั้นต่ำไว้ แม้ผู้ทอดตลาดจะเผลอเคาะไม้ให้ผู้สู้ราคาสูงสุด ซึ่งให้ราคาต่ำกว่าราคาที่สงวนไว้ ผู้สู้ราคาสูงสุดก็หาได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์นั้นไม่ ทั้งนี้ปรากฏตามคำวินิจฉัยของศาลอังกฤษในคดี Mc Manus v. Fertescue(2)
        ข้อวินิจฉัยของศาลอังกฤษทั้งสองคดีนี้น่าจะนำมาใช้กับกฎหมายไทยได้ เพราะมาตรา 58 (2) ของ The Sale of Goods Act, 1693 ได้บัญญัติข้อความไว้ตรงกับมาตรา 509 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ทุกประการ
        ถ้าทรัพย์ที่ซื้อจากการขายทอดตลาดเป็นทรัพย์ประเภทที่ต้องทำเป็นหนังสือ และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในการซื้อขาย กรรมสิทธิ์จะโอนเป็นของผู้ซื้อก็ต่อเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายเป็นหนังสือ และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว
        5. สัญญาซื้อขาย F.O.B. (Free on board) สัญญาเช่นนี้มิได้มีกฎหมายไทยบัญญัติไว้ จึงต้องใช้หลักกฎหมายทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่ก็ถือตามหลักกฎหมายของอังกฤษ สัญญาซื้อขาย F.O.B. คือสัญญาขายสินค้าที่ให้ขนส่งทางทะเล โดยมีข้อตกลงว่า ผู้ขายมีหน้าที่ส่งสินค้าลงเรือตามที่ผู้ซื้อได้แจ้งให้ทราบว่าเป็นเรือลำใด และจะให้ส่งสินค้าไปลงที่ท่าเรือไหนเพื่อผู้ขายจะได้ส่งสินค้าลงเรือถูกต้อง ค่าประกันภัยในการขนส่งสินค้า ค่าระหว่างบรรทุกผู้ซื้อต้องจ่าย ผู้ขายคงจ่ายเพียงค่านำสินค้าลงเรือเท่านั้น เมื่อได้นำสินค้าลงเรือแล้ว ถือเป็นการส่งมอบสินค้า ฉะนั้นภัยพิบัติในสินค้านั้น หากมีก็ตกเป็นภัยแก่ผู้ซื้อเมื่อใดนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับสินค้านั้นว่าเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่ง หรือมิใช่ ถ้าเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่ง กรรมสิทธิ์ย่อมโอนเมื่อนำสินค้าลงเรือ เว้นแต่จะมีข้อตกลง หรือแสดงเจตนาเป็นอย่างอื่น ถ้ามิใช่ทรัพย์เฉพาะสิ่ง กรรมสิทธิ์จะโอนเมื่อได้จัดการให้ทรัพย์นั้นกลายเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่งขึ้นมา
        6. สัญญาซื้อขาย C.I.F. (cost, insurance and freight) สัญญา C.I.F. คือ สัญญาซื้อขายสินค้าเพื่อขนส่งทางทะเล โดยผู้ขายตกลงจะส่งสินค้าไปให้ถึงท่าเรือตามที่ผู้ซื้อต้องการ และผู้ขายเป็นผู้ออกค่าระวางบรรทุกรวมทั้งค่าประกันภัยให้ แต่แทนที่ผู้ขายจะส่งมอบสินค้าให้ผู้ซื้อโดยตรง ผู้ขายจะส่งมอบเพียงเอกสารการขนส่ง (shipping documents) ซึ่งถือเป็นเอกสารแทนสินค้าให้ผู้ซื้อเท่านั้น เอกสารการขนส่งนี้ได้แก่ บิลออฟเลดดิ้ง (bill of lading) กรมธรรม์ประกันภัย (policy of insurance) และใบแสดงรายการสินค้า (invoice) ภัยพิบัตรในสินค้าจะตกอยู่แก่ผู้ซื้อนับตั้งแต่สินค้านั้นได้นำลงเรือแล้ว แต่กรรมสิทธิ์ในสินค้านั้นจะโอนไปยังผู้ซื้อก็ต่อเมื่อได้ส่งมอบเอกสารการขนส่งให้แก่ผู้ซื้อแล้ว อย่างไรก็ตามแม้จะถือว่า กรรมสิทธิ์ได้โอนไปยังผู้ซื้อดังกล่าว แต่เมื่อผู้ซื้อได้ตรวจตราสินค้าแล้ว หากไม่ตรงตามสัญญาที่กระทำกันไว้ ผู้ซื้อก็มีสิทธิจะปฏิเสธไม่ยอมรับมอบสินค้านั้นได้
        7. สัญญาซื้อขาย Ex. Ship สัญญา Ex Ship คือสัญญาซื้อขายที่ผู้ขายจะนำสินค้าบรรทุกเรือไปส่งให้ผู้ซื้อที่ท่าเรือปลายทาง โดยจะส่งมอบสินค้าให้จากเรือนั้น ผู้ขายเป็นผู้ชำระค่าระวางบรรทุกสินค้าเอง แต่ภัยพิบัติในสินค้าหากมีก่อนที่จะมีการส่งมอบสินค้า ย่อมตกเป็นภัยแก่ผู้ขาย สำหรับกรรมสิทธิ์ในสินค้านั้นจะโอนไปยังผู้ซื้อเมื่อผู้ขายได้ส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อแล้ว
        เพื่อเป็นแนวทางประกอบการพิจารณาว่า กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขาย โอนไปยังผู้ซื้อเมื่อใด นอกจากที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว ขอนำหลักกฎหมายของอังกฤษตาม The Sale of Goods Act; 1983 มากล่าวไว้เป็นสังเขป ดังนี้
[แก้ไข] สัญญาซื้อขายทรัพย์เฉพาะสิ่ง
        มาตรา 17 (1) สัญญาซื้อขายทรัพย์เฉพาะสิ่งหรือทรัพย์ที่กำหนดไว้แน่นอน กรรมสิทธิ์ย่อมโอนไปยังผู้ซื้อเมื่อคู่สัญญามีเจตนาจะให้โอน (2) เพื่อจะทราบเจตนาของคู่สัญญา ต้องพิจารณาข้อความในสัญญา การปฏิบัติของคู่สัญญาและพฤติการณ์แห่งกรณีด้วย
        มาตรา 18 เว้นแต่จะปรากฏเจตนาเป็นอย่างอื่น ให้ใช้หลักเกณฑ์ต่อไปนี้เพื่อจะทราบเจตนาของคู่สัญญาจะให้กรรมสิทธิ์โอนไปเมื่อใด
        ข้อ 1. เมื่อเป็นสัญญาซื้อขายทรัพย์เฉพาะสิ่งโดยไม่มีเงื่อนไข และเป็นทรัพย์ที่อยู่ในสภาพส่งมอบได้ กรรมสิทธิ์จะโอนตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกัน ทั้งนี้ไม่ต้องคำนึงว่ามีการผ่อนชำระราคาผ่อนเวลาส่งมอบ หรือผ่อนเวลาทั้งสองกรณีหรือไม่
        ข้อ 2. เมื่อเป็นสัญญาซื้อขายทรัพย์เฉพาะสิ่ง และผู้ขายผูกพันที่จะต้องทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับทรัพย์นั้น เพื่อให้ทรัพย์นั้นอยู่ในสภาพที่จะส่งมอบได้ กรรมสิทธิ์ยังไม่โอนจนกว่าผู้ขายจะได้ทำการนั้น และผู้ซื้อได้ทราบถึงการกระทำนั้นแล้ว
        ข้อ 3. เมื่อเป็นสัญญาซื้อขายทรัพย์เฉพาะสิ่งที่อยู่ในสภาพส่งมอบได้ แต่ผู้ขายผูกพันที่จะต้อง ชั่ง วัด ทดสอบ หรือทำการอย่างใดหรือทำสิ่งใดเกี่ยวกับทรัพย์นั้น ให้รู้กำหนดราคาทรัพย์นั้นแน่นอน กรรมสิทธิ์ยังไม่โอน จนกว่าผู้ขายจะได้ทำการนั้นหรือทำสิ่งนั้น และผู้ซื้อได้ทราบถึงการกระทำนั้นแล้ว
        ข้อ 4. ถ้าทรัพย์ส่งมอบแก่ผู้ซื้อเป็นการขายแบบขายเผื่อชอบ หรือจะซื้อหรือไม่ซื้อก็ได้ (on sale or return) หรือเป็นการขายทำนองดังกล่าว กรรมสิทธิ์จะโอนเมื่อ
        (ก) ผู้ซื้อแจ้งให้ผู้ขายทราบว่าตนเห็นชอบหรือยอมรับหรือกระทำการใด ๆ อันเป็นการยอมรับทรัพย์นั้น
        (ข) ถ้าผู้ซื้อไม่แจ้งให้ผู้ขายทราบว่าตนเห็นชอบ หรือยอมรับทรัพย์นั้น แต่ยังคงยึดถือทรัพย์ไว้โดยมิได้ปฏิเสธให้ผู้ขายทราบภายในเวลากำหนด หรือถ้ามิได้กำหนดเวลาไว้ มิได้ปฏิเสธในเวลาอันสมควร อย่างไรจะถือว่าเป็นเวลาอันสมควรนั้นเป็นปัญหาข้อเท็จจริง
[แก้ไข] สัญญาซื้อขายทรัยพ์ที่มิได้กำหนดไว้แน่นอน
        มาตรา 16 สัญญาซื้อขายทรัพย์ที่มิได้กำหนดไว้แน่นอน กรรมสิทธิ์ยังไม่โอนจนกว่าทรัพย์นั้นกลายเป็นทรัพย์ที่กำหนดลงแน่นอนแล้ว
        และตามหลักเกณฑ์ข้อ 5 (1) ของมาตรา 18 บัญญัติว่า สัญญาซื้อขายทรัพย์ที่มิได้กำหนดไว้แน่นอน หรือทรัพย์ที่ยังไม่มีอยู่ตามคำพรรณนานั้น หากผู้ขายโดยความยินยอมของผู้ซื้อ หรือผู้ซื้อโดยความยินยอมของผู้ขายได้กำหนดทรัพย์ตามคำพรรณนาซึ่งอยู่ในสภาพส่งมอบได้ ไว้ในสัญญาโดยไม่มีเงื่อนไขอย่างใด กรรมสิทธิ์ย่อมโอนไปยังผู้ซื้อ ความยินยอมของผู้ซื้อหรือผู้ขายจะชัดแจ้งหรือปริยาย และจะให้ไว้ก่อนหรือหลังที่จะกำหนดทรัพย์นั้นก็ได้
[แก้ไข] สัญญาซื้อขายที่มีเงื่อนไข
        มาตรา 19 (1) สัญญาขายทรัพย์เฉพาะสิ่งหรือทรัพย์ที่มีการกำหนดตัวทรัพย์ไว้ในสัญญาในภายหลัง ผู้ขายอาจสงวนสิทธิไว้ในสัญญาหรือในการกำหนดตัวทรัพย์ว่า จะจำหน่ายทรัพย์ต่อเมื่อมีเงื่อนไขอย่างใดเกิดขึ้น ในกรณีเช่นนี้ แม้ว่าจะมีการส่งมอบทรัพย์แก่ผู้ซื้อ ผู้ขนส่ง ผู้รับฝาก ผู้ดูแลเพื่อจะมอบให้แก่ผู้ซื้อ กรรมสิทธิ์จะยังไม่โอนไปยังผู้ซื้อ จนกว่าเงื่อนไขตามที่กำหนดไว้จะสำเร็จแล้ว
[แก้ไข] ข้อตกลงเกี่ยวกับภัยพิบัติ
        มาตรา 20 ภัยพิบัตรตกอยู่แก่ผู้ขายจนกว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์นั้นจะโอนไปยังผู้ซื้อ แต่เมื่อกรรมสิทธิ์โอนไปยังผู้ซื้อแล้ว ภัยพิบัติย่อมตกอยู่แก่ผู้ซื้อ ไม่ว่าจะได้มีการส่งมอบทรัพย์นั้นแล้วหรือไม่ ทั้งนี้เว้นแต่จะตกลงเป็นประการอื่น
        ถ้าการส่งมอบทรัพย์ล่าช้า เนื่องจากความผิดของผู้ซื้อหรือผู้ขาย ภัยพิบัติในทรัพย์ย่อมตกอยู่แก่ฝ่ายผิดเท่าที่เป็นความผิดของฝ่ายนั้น
        บทบัญญัติในมาตรานี้ไม่กระทบกระทั่งถึงหน้าที่ หรือความรับผิดของผู้ขาย หรือผู้ซื้อในฐานะเป็นผู้รับฝากหรือผู้ดูแลทรัพย์ไว้แทนคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง
        หลักกฎหมายของอังกฤษดังกล่าวมีอะไรหลายอย่างที่สอดคล้อง และเป็นไปในแนวทางเดียวกับกฎหมายของไทยเรา จึงน่าจะนำมาประกอบการพิจารณาในการใช้บทกฎหมายไทยได้ แทนที่ไม่ขัดแย้งกัน

http://www.openbase.in.th/http:/%252Fwww.panyathai.or.th/wiki/index.php/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%82%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B9%8C%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8D%E0%B8%B2%25

ซื้อขาย - ซื้อขายตามคำพรรณนา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1138/2542

แม้จำเลยจะได้แสดงสวนหย่อมไว้ในใบโฆษณาและอาคารจำลอง แต่ก่อนเปิดขายอาคารทุกหลังในโครงการนี้ได้ตอกเสาเข็ม ไว้แล้วโดยแต่ละต้นเหลือส่วนบนโผล่ พ้นดินประมาณ 2 เมตร ซึ่งในระหว่างที่โจทก์ผ่อนชำระเงินดาวน์และไปตรวจดูการ ก่อสร้างห้องชุดที่จะซื้อ โจทก์ได้เห็นการก่อสร้างอาคารซี ตรงจุดที่จำเลยแสดงไว้ในโฆษณาว่าจะทำเป็นสวนหย่อม แต่โจทก์ ก็ไม่เคยโต้แย้งการก่อสร้างอาคาร ซี แต่อย่างใด เท่ากับโจทก์รู้เห็นการก่อสร้างอาคาร ซีมาโดยตลอด การที่โจทก์ก็ยังคงเข้าทำสัญญาและติดต่อปฏิบัติตามสัญญาตลอดมา แสดงว่า โจทก์หาได้ถือว่าการจะมีหรือไม่มีสวนหย่อมหน้าอาคารชุดหลัง ที่โจทก์จะซื้อห้องชุดเป็นข้อสาระสำคัญไม่ จึงฟังไม่ได้ว่า จำเลยผิดสัญญา

หมายเหตุ

คดีนี้โจทก์ฟ้องอ้างเหตุประการหนึ่งว่า จำเลยแสดงตัวอย่างอาคารย่อมีสวนหย่อมไว้ ทั้งได้พรรณนาในใบโฆษณาว่า จะจัดทำสวนหย่อมโดยแสดงรูปภาพของอาคารและสวนหย่อมไว้ชัดแจ้งจำเลยให้การต่อสู้คดีว่า รูปสวนหย่อมในใบโฆษณาเป็นเพียงทัศนีย ภาพสมมุติ และใบโฆษณาดังกล่าวมิใช่ส่วนหนึ่งของสัญญาจะซื้อจะขาย ประเด็นข้อพิพาทจึงมีว่า จำเลยมีหน้าที่ต้องสร้างสวนหย่อมตามข้อตกลงหรือไม่ การวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวควรต้องพิจารณาว่า โจทก์และจำเลยตกลงทำสัญญากันโดยมีข้อตกลงให้จำเลยต้องสร้างสวนหย่อมด้วยหรือไม่ ถือว่าเกี่ยวข้องโดยตรงกับหลักกฎหมายในเรื่องของการซื้อขายตามคำพรรณนาตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 503 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9157/2539 วางหลักเกี่ยวกับการซื้อขายตามคำพรรณนาไว้ว่า เป็นการขายที่ผู้ซื้อไม่ได้เห็นหรือตรวจตราทรัพย์สินที่ขาย แต่ตกลงซื้อโดยเชื่อถือคำบรรยายถึงลักษณะ รูปพรรณสัณฐาน และคุณภาพของทรัพย์สินนั้น ตามที่ผู้ขายบอกหรือบรรยายไว้ และแม้ในบางกรณีผู้ซื้อจะได้เห็นทรัพย์สินนั้นแล้วก็ดี หากทรัพย์สินนั้นยากแก่การที่จะตรวจตราถึงคุณภาพได้และผู้ซื้อตกลงซื้อโดยอาศัยคำบรรยายของผู้ขายเป็นหลักก็ย่อมเป็นการขายตามคำพรรณนาเช่นกัน
ลักษณะคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9157/2539 มีรูปเรื่องคล้ายคลึงกับคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับที่หมายเหตุนี้ กล่าวคือเป็นเรื่องของการขายที่ดินจัดสรร ซึ่งมีหนังสือชี้ชวน และแผนผังแสดงที่ตั้งโครงการแสดงไว้ ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยไว้ตอนหนึ่งว่า"โจทก์จำเลยรับกันว่า จำเลยได้โฆษณาเสนอขายที่ดินในโครงการของจำเลยที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลลาดพร้าว โดยมีหนังสือชี้ชวนและแผนผังแสดงที่ตั้งโครงการ รวมทั้งการแบ่งแยกที่ดินแปลงย่อยตามเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 ที่ดินแปลงที่ A248ที่โจทก์ตกลงซื้ออยู่ปากทางเข้าโครงการ ซึ่งภายในโครงการมีสปอร์ตคลับ ศูนย์กีฬาและโรงแรม แม้จะปรากฏว่าโจทก์ได้ไปดูที่ดินก่อนทำสัญญา แต่ตำแหน่งที่ตั้งของที่ดินของศูนย์อำนวยความสะดวกอื่น ๆ เช่น ศูนย์กีฬา สปอรต์คลับ และทางเข้าออกของโครงการ โจทก์ย่อมไม่สามารถตรวจดูได้ เพราะเป็นที่ดินว่างเปล่ายังมิได้ทำถนนและสิ่งปลูกสร้าง คงเชื่อตามที่จำเลยได้บรรยายไว้ในหนังสือชี้ชวน และแผนผังที่จำเลยที่ 1ออกโฆษณา เมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อจะขายตามเอกสารหมาย จ.7 จึงได้ระบุไว้ในข้อ 1 ว่าที่ดินแปลงหมายเลข A248ที่ซื้อขายกันนั้นปรากฏตามแผนผังที่ดินท้ายสัญญาที่ได้หมายสีแดงไว้โดยให้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา จึงถือได้ว่าเป็นการขายตามคำพรรณนา"
เป็นที่น่าเสียดายว่า ตามคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับที่หมายเหตุนี้ ศาลฎีกามิได้วินิจฉัยไว้โดยตรงว่า การซื้อขายระหว่างโจทก์จำเลยเป็นการขายตามคำพรรณนาหรือไม่ หากเป็นการซื้อขายตามคำพรรณนาแล้ว จำเลยต้องจัดให้มีสวนหย่อมตามที่พรรณนาไว้  อย่างไรก็ตามคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับที่หมายเหตุนี้ ศาลฎีกาวินิจฉัยไว้ตอนหนึ่งว่า "แสดงว่าโจทก์หาได้ถือว่าการจะมีสวนหย่อมหน้าอาคารชุดหลังที่โจทก์จะซื้อห้องชุดหรือไม่มีเป็นสาระสำคัญไม่จึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยผิดสัญญา" จึงมีข้อน่าพิจารณาอยู่ว่าเป็นการที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยแล้วว่าการสร้างสวนหย่อมนั้นถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างโจทก์จำเลยในคดีนี้เมื่อเป็นเช่นนี้ ปกติแล้วจำเลยจึงต้องมีหน้าที่สร้างสวนหย่อมตามที่พรรณนาไว้ ส่วนการที่จะถือว่าจำเลยผิดสัญญาต่อโจทก์หรือไม่นั้น จะต้องดูข้อเท็จจริงอื่นประกอบด้วย ดังเช่นคดีนี้ที่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าโจทก์มิได้ถือเอาการมีสวนหย่อมหน้าอาคารชุดหลังที่โจทก์จะซื้อห้องชุดเป็นข้อสาระสำคัญ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา เกี่ยวกับประเด็นนี้ผู้เขียนเห็นว่าแม้จำเลยมีหน้าที่ตามสัญญาในการต้องสร้างสวนหย่อมแก่โจทก์แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏแจ้งชัดว่าโจทก์มิได้ถือเอาการมีสวนหย่อมหน้าอาคารชุดเป็นสาระสำคัญในการซื้อห้องชุดแล้วการที่จำเลยไม่จัดสร้างสวนหย่อมตามสัญญา ก็น่าที่โจทก์จะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้ได้ ส่วนประเด็นว่าโจทก์จะได้รับความเสียหายหรือไม่เพียงใดนั้น ก็ควรต้องคำนึงถึงการที่โจทก์มิได้ถือเอาการจัดสร้างสวนหย่อมเป็นสาระสำคัญของสัญญาด้วยพิจารณาในแง่นี้อาจทำให้มองได้ว่าโจทก์ไม่ได้รับความเสียหายเลยก็ได้
ทนงศักดิ์ดุลยกาญจน์


ประดิษฐ์ สิงหทัศน์
พิมล สมานิตย์
ไชยวัฒน์ สัตยาประเสริฐ

http://www.deka.in.th/view-13833.html

วันอาทิตย์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ละเมิด -องค์ประกอบ .ความเสียหาย.

2092/2526


ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การเชื้อเพลิง พ.ศ. 2503 มาตรา 20ผู้อำนวยการองค์การโจทก์มีอำนาจและหน้าที่จัดการและดำเนินกิจการ ขององค์การโจทก์ให้เป็นไปตามนโยบายและข้อบังคับที่คณะกรรมการ กำหนด การฟ้องร้องดำเนินคดีแก่ผู้ก่อความเสียหายก็เป็นการดำเนินกิจการอย่างหนึ่ง จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ว่า การที่ผู้อำนวยการองค์การโจทก์ ฟ้องคดีนี้เป็นการขัดต่อนโยบายและข้อบังคับของคณะกรรมการประการใด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ส. กับ ว. ต่างเป็นพนักงานของโจทก์ซึ่งมีหน้าที่ทำงานให้แก่โจทก์และโจทก์จ่ายสินจ้างให้ตลอดเวลาที่ทำงาน แม้โจทก์จะจัดตั้งขึ้น โดยพระราชกฤษฎีกา โจทก์ก็เป็นเพียงองค์การรัฐวิสาหกิจ หาใช่ส่วนราชการไม่ ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับบุคคลทั้งสอง จึงมิใช่ความสัมพันธ์ระหว่าง กรมกระทรวงในรัฐบาลกับข้าราชการซึ่งมีขึ้นโดยกฎหมายฝ่ายปกครองแต่เป็นความสัมพันธ์ตามสัญญาจ้างแรงงาน แม้โจทก์จะมีข้อบังคับ ว่าด้วยวินัยพนักงานซึ่งคณะกรรมการองค์การโจทก์วางไว้โดยอาศัยอำนาจตามความในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การเชื้อเพลิง พ.ศ. 2503 เพื่อใช้บังคับแก่บรรดาพนักงานของโจทก์ ก็เป็นเพียงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับบุคคลทั้งสองจึงยังคงเป็นความสัมพันธ์ตามสัญญาจ้างแรงงานอยู่นั่นเอง
โจทก์มีคำสั่งมอบหมายให้ ส. กับ ว. เป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงของโจทก์ และในกรณีที่จ้างบุคคลอื่น มาทำการขนส่งแทนก็ให้อยู่ในความควบคุมตรวจตราดูแลให้เป็น ที่เรียบร้อย แต่บุคคลทั้งสองกลับละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งของโจทก์ โดยไม่ควบคุมตรวจตราดูแลการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงให้เป็นที่เรียบร้อยจนเป็นเหตุให้ ก. กับพวกซึ่งรับจ้างโจทก์ขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงได้ร่วมกันเอาน้ำมันเชื้อเพลิงของโจทก์ไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยผิดกฎหมาย จึงเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงาน ย่อมเป็นการไม่ชำระหนี้ แก่โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้าง ถึงแม้โจทก์จะได้รับความเสียหายแก่ทรัพย์สินเนื่องจากความประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคคลทั้งสอง อันถือได้ว่า เป็นการกระทำละเมิด แต่การไม่ชำระหนี้ของลูกจ้างตามสัญญาก็เป็นการผิดสัญญาด้วย เมื่อการกระทำของ ส. กับ ว. เป็นทั้งละเมิด และผิดสัญญา โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การนั้นได้ทั้งสองทาง สำหรับสิทธิเรียกร้อง ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานนั้น มีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 ถึงหากสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดจะขาดอายุความแล้ว ก็หามีผลกระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหาย อันเกิดจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานไม่ (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 820/2513) จำเลยได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการองค์การโจทก์ตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2508 โจทก์ได้รับความเสียหายจากการกระทำของ ส. กับ ว.ลูกจ้างของโจทก์ ระหว่างวันที่ 16 มีนาคม 2510 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2511 จำเลยพ้นจากตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การโจทก์ เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2519 และ ช. ผู้อำนวยการคนใหม่ได้ทราบเรื่องนี้ตั้งแต่ก่อนวันเข้ารับตำแหน่ง เพราะเป็นผู้รักษาการแทนระหว่างจำเลยลาป่วยมาก่อนขณะนั้นสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจาก การผิดสัญญาจ้างแรงงานยังไม่ขาดอายุความ หากโจทก์จะฟ้อง ส. กับ ว.ให้รับผิดก็ยังมีสิทธิฟ้องได้ แต่โจทก์มิได้ฟ้องเอง การที่จำเลยมิได้ ดำเนินการฟ้องบุคคลทั้งสองภายในกำหนดอายุความ 1 ปี จึงไม่เป็นเหตุ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยไม่เป็นละเมิด ดังโจทก์ฟ้อง


สรุปคือ แม้อายุความทางละเมิดจะขาด แต่ยังฟ้องสัญญาจ้างแรงงานได้ เมื่อยังฟ้องให้ลูกจ้างได้รับผิดได้ จึงไม่ได้เสียหาย ไม่เป็นละเมิด

ทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์

เป็นทรัพย์ที่ติดกับที่ดินหรือไม่ดู สภาพของทรัพย์
ดูว่าโอนเป็นสังหาหรืออสังหาดูเจตนา เช่นซื้อขายไม้โรงเรือนที่รื้อไปเป็นซื้อขายสังหาริมทรัพย์

การขายทอดตลาดตกอยู่ในบังคับมาตรา456หรือไม่

เดิม 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5137/2537
โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินและตึกแถวพิพาทโดยอ้างว่าอาจให้เช่าได้เดือนละ 20,000 บาท ศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้เดือนละ 3,000 บาท โจทก์มิได้อุทธรณ์ จึงฟังได้ว่าที่ดินและตึกแถวพิพาทอาจให้เช่าได้เดือนละ 3,000 บาท แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระค่าเสียหายที่โจทก์ถูกผู้ซื้อที่ดินและตึกแถวพิพาทปรับอีก 100,000 บาท ทุนทรัพย์ที่พิพาทในส่วนนี้ก็ไม่เกิน 200,000 บาท ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 ที่จำเลยฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1330 กำหนดเรื่องการขายทอดตลาดทรัพย์สินตามคำสั่งศาลหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไว้เป็นกรณีพิเศษไม่อยู่ในข่ายของการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ทั่วไปที่บัญญัติเรื่องแบบนิติกรรมไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 ดังนั้น แม้จำเลยซื้อที่ดินและตึกแถวพิพาทมาจากลูกหนี้เมื่อลูกหนี้ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดก่อนจดทะเบียนการโอนที่ดินและตึกแถวพิพาทให้แก่จำเลยกรรมสิทธิ์ในที่ดินและตึกแถวพิพาทยังเป็นของลูกหนี้อยู่ โจทก์ซื้อที่ดินและตึกแถวพิพาทจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ โจทก์จึงมีสิทธิในที่ดินและตึกแถวพิพาทดีกว่าจำเลย


ใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17393/2555
การยึดที่ดินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ย่อมครอบไปถึงดอกผลนิตินัยของที่ดินนั้นด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 304 วรรคสอง ค่าเช่าที่ดินที่จำเลยต้องชำระตามสัญญาเช่า ถือเป็นดอกผลนิตินัยของที่ดินที่ถูกยึด ผู้ซื้อทรัพย์ย่อมได้ไปซึ่งสิทธิในการเรียกค่าเช่าในงวดที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระและต้องรับไปซึ่งภาระตามสัญญาเช่าที่ต้องให้ผู้เช่าใช้ประโยชน์จากที่ดินที่เช่าตามข้อสัญญาเช่นกัน
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 509 บัญญัติว่า การขายทอดตลาด แม้จะบริบูรณ์เมื่อผู้ทอดตลาดแสดงความตกลงด้วยการเคาะไม้ก็ตาม แต่ก็มีผลเพียงทำให้ผู้สู้ราคาไม่อาจถอนคำสู้ราคาของตนได้เท่านั้นและเมื่อพิจารณาประกอบมาตรา 515 และมาตรา 516 ที่บัญญัติว่า ผู้สู้ราคาสูงสุดต้องใช้ราคาเป็นเงินสดเมื่อมีการขายบริบูรณ์ และถ้าผู้สู้ราคาสูงสุดละเลยเสียไม่ใช้ราคาก็ให้เอาทรัพย์สินนั้นขายทอดตลาดซ้ำอีกครั้ง เมื่อในวันขายทอดตลาดที่ดินครั้งที่ 6 เจ้าพนักงานบังคับคดีได้เคาะไม้ขายให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ซึ่งเสนอราคาสูงสุด และในวันเดียวกันผู้ซื้อทรัพย์ได้ทำหนังสือสัญญาซื้อขายกับเจ้าพนักงานบังคับคดีกับได้วางเงินมัดจำชำระค่าที่ดินบางส่วน และในเวลาต่อมาประมาณเกือบหนึ่งเดือนผู้ซื้อทรัพย์ได้ชำระส่วนที่เหลือ การทอดตลาดจึงเสร็จสมบูรณ์ในวันที่ชำระส่วนที่เหลือ
การซื้อที่ดินเป็นการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์จึงต้องตกอยู่ภายใต้บทบัญญัติตามมาตรา 456 แห่ง ป.พ.พ. เมื่อยังไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ ผู้ซื้อทรัพย์จึงเพียงอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิได้ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 กรรมสิทธิ์ในที่ดินจึงยังคงเป็นของกองมรดก ถ. เมื่อต่อมาผู้ซื้อทรัพย์ขอรับเงินค่าที่ดินบางส่วนคืนจากเจ้าพนักงานบังคับคดี จึงเป็นการที่ผู้ซื้อทรัพย์ยังไม่ได้ชำระราคาครบถ้วนและยังไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้ซื้อทรัพย์ การซื้อขายที่ดินยังไม่เสร็จสมบูรณ์ตามกฎหมาย กรรมสิทธิ์ในที่ดินจึงยังคงเป็นของกองมรดก ถ. เมื่อต่อมาถึงกำหนดชำระค่าเช่าที่ดินดังกล่าวงวดที่ 5 โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ถ. จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระค่าเช่างวดที่ 5 และงวดต่อ ๆ ไปตามสัญญาเช่าที่ดินดังกล่าวได้จนกว่าผู้ซื้อทรัพย์ได้ชำระราคาครบถ้วนและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ตามกฎหมายแล้ว



คำบรรยายเล่มที่3 ซื้อขาย

เช่า -บังคับให้จดทะเบียนได้หรือไม่?

มาตรา 538 "เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่  ถ้าเช่ามีกำหนดกว่าสามปีขึ้นไป หรือกำหนดตลอดอายุผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซรื หากไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ท่านว่าการเช่านั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปี"

    หลักในเรื่องการเช่านั้น ถ้าเช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปีต้องทำหลักฐานเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่ถ้าไม่เกินสามปีต้องทำหลักฐานเป็นหนังสือเท่านั้น ไม่ต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หากเช้าเกินสามปีแล้วไม่จดทะเบียนจะใช้ได้แค่สามปี ปัญหาคือ ถ้าตอนเช่าไม่ได้จดทะเบียนไว้ คู่สัญญาจะบังคัให้อีกฝ่ายไปจดทะเบียนได้หรือไม่ (เป็นฐานที่ตั้งในการบังคับคดี และต่อสู้เกี่ยวกับสัญญาเช่า เพราะฉะนั้น หากฟ้องไม่เกี่ยวกับสัญญาเช่าก็ไม่ต้องมีหลังฐานเป็นหนังสือก็ฟ้องได้ เช่นการฟ้องขับไล่ เป็นต้น)

ตอบ  ไม่ได้
เพราะการจดทะเบียน เป็นแบบ และการจดทะเบียน ไม่เป็นหนี้ ผู้เช่าและผู้ให้เช่าจึงไม่มีหนี้ที่ต้องไปจดทะเบียนต่อกัน บังับให้จดทะเบียนไม่ได้ แนวเดิมบังคับให้จดทะเบียนไม่ได้ แต่แนวใหม่บังคับให้จดทะเบียนได้ เพราะถือว่าไม่ใช่แบบ


คำบรรยายเล่มที่3 หนี้

บุคคลสิทธิ ทรัพยสิทธิ

                                                  ฎีกา664/34 


บรรยายฟ้องว่า จำเลยรื้อถอนอาคารที่ติดกับอาคารโจทก์โดยไม่ถูกต้องตามหลักวิชา ทำให้อาคารของโจทก์ได้รับความเสียหายแตกร้าว โจทก์ต้องก่อสร้างอาคารใหม่ ทั้งเป็นเหตุทำให้โจทก์ขาดรายได้จากการขายอาหารเพราะลูกค้าไม่กล้าเข้าร้านอาคารโจทก์ที่ใช้ประกอบกิจการค้าขายอาหาร ดังนี้ เป็นคำฟ้องที่บรรยายเกี่ยวกับความเสียหายและค่าเสียหายชัดแจ้งแล้ว ไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับความเสียหายที่โจทก์ไม่ได้ระบุในคำฟ้องนั้นโจทก์อาจนำสืบได้ในชั้นพิจารณา เหตุละเมิดที่ทำให้อาคารได้รับความเสียหาย เกิดขึ้นในขณะที่โจทก์ในฐานะผู้จะซื้อครอบครองอาคารดังกล่าวแทนผู้จะขายโจทก์จึงมีแต่เพียงบุคคลสิทธิตามสัญญาจะซื้อจะขายที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนแต่เฉพาะในส่วนที่ทำให้โจทก์ขาดรายได้จากการขายอาหารในอาคารดังกล่าวซึ่งเป็นผลโดยตรงเท่านั้น โจทก์ไม่อาจใช้สิทธิในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336ที่จะเรียกค่าเสียหายที่เกิดแก่ตัวอาคารเพราะสิทธินั้นเป็นของผู้จะขายอาคารเท่านั้น การที่โจทก์จะให้ผู้ว่าจ้างรับผิดร่วมกับผู้รับจ้างที่กระทำละเมิดต่อโจทก์นั้น โจทก์มีภาระต้องพิสูจน์ว่าผู้ว่าจ้างเป็นผู้ผิดในการเลือกหาผู้รับจ้างหรือเป็นผู้ควบคุมดูแลผู้รับจ้างที่ทำละเมิดนั้นเมื่อโจทก์สืบไม่ได้ ผู้ว่าจ้างไม่ต้องรับผิดในผลละเมิดที่ผู้รับจ้างได้กระทำขึ้น


คำบรรยายเล่มที่3 หนี้

หนี้-วัตถุแห่งหนี้

การบังคับให้ใช้ราคาแทนทรัพย์สิน ในกรณีไม่มีตัวทรัพย์เลยให้ใช้ราคาแทนนี้ ไม่ใช่ค่าสินไหมทดแทน เป็นการเปลี่ยนวิธีการมาใช้ราคา เมื่อไม่ใช่ค่าสินไหมทดแทนจะใช้มาตรา222ไม่ได้


ค้ำประกันต้องมีหนี้ประธาน

จะมีการค้ำประกันได้ จะต้องมีหนี้ระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ก่อน(หนี้ประธาน ถ้าไม่มี แม้ผู้ค้ำประกันทำสัญญาค้ำประกันไว้ก็ไม่ต้องรับผิด)


ฎ.3781/33จำเลยทั้งสองเช่าหลักทรัพย์ น.ส.3 ที่ดินของโจทก์เพื่อประกันตัว ว. พี่ของจำเลยที่ 2 ที่ถูกฟ้องในข้อหาฉ้อโกงประชาชนต่อศาล โดยโจทก์เรียกค่าตอบแทนและให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ให้จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันไว้ เพื่อเป็นประกันในการที่โจทก์ยื่นหลักทรัพย์ขอประกันตัว ว. ซึ่งขณะจำเลยที่ 1 และที่ 2ทำสัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกันดังกล่าว สัญญาประกันตัว ว.ยังไม่ได้ทำและความเสียหายยังไม่เกิดขึ้น ไม่มีหนี้เดิมที่จะแปลงเป็นมูลหนี้ในสัญญากู้เงินได้ จึงไม่เป็นการแปลงหนี้ อีกทั้งยังไม่รู้ว่าศาลจะตีราคาประกันเท่าใด จึงเป็นหนี้ที่ไม่แน่นอนและไม่อาจทำสัญญากู้เงินเพื่อประกันหนี้นั้นได้ ดังนั้นจำเลยที่ 1ผู้กู้เงินและจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์

ทรัพย์-ทรัพย์แบ่งไม่ได้

ฎ.1303/10
ช้างของกลางเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของสองคน คนละกึ่งหนึ่งเจ้าของคนหนึ่งรู้เห็นเป็นใจให้จำเลยนำช้างของกลางไปชักลากไม้ที่แปรรูปโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ดังนี้ ศาลย่อมริบช้างของกลางกึ่งหนึ่งเฉพาะส่วนของเจ้าของคนที่รู้เห็นเป็นใจสำหรับอีกกึ่งหนึ่งให้ตกได้แก่เจ้าของที่ไม่ได้รู้เห็นเป็นใจ จะริบทั้งหมดหาได้ไม่


วันพฤหัสบดีที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

นิติกรรม - โมฆะ

     นิติกรรมที่มีแบบกำหนดไว้ ถ้าไม่ทำให้ถูกต้องตามแบบ นิติกรรมย่อมเป็นโมฆะ แต่การแสดงเจตนาที่ออกมานั้นไม่ได้เป็นโมฆะไปด้วย ยังสมบูรณ์อยู่ ถ้าเจตนาที่แสดงออกมาไปเข้าในแบบอื่น หรือที่ไม่มีกฎหมายกำหนดไว้ก็สามารถไปสมบูรณ์ในฐานะเป็นนิติกรรมอื่นได้            เช่นนิติกรรมฝ่ายเมือง แต่ทำกับปลัดอำเภอที่ไม่เป็นผู้รักษาการแทนนายอำเภอทำให้ไม่สมบูรณ์เป็พิรับกรรมฝ่ายเมือง แต่เป็นพินัยกรรมแบบธรรมดาได้หากมีผู้เป็นพยานลงลายมือชื่อรับรองสองคน ก็สมบูรณ์แบบเป็นพินัยกรรมธรรมดาซึ่งไม่ต้องเขียนเอง
หากรถที่เช่ามาถูกชน เรียกค่าเสียหายใดได้บ้าง


1.ค่าซ่อม อันนี้ชัดเจน เพราะทรัพย์ที่เช่ามาได้รับความเสียหาย ผู้เช่ามีหน้าที่ต้องซ่อมเล็ก และ ผู้เช่ามีหน้าที่ต้องส่งมอบทรัพย์สินคืนในสภาพดี เพราะฉะนั้น จึงเรียกค่าซ่อมได้
2.ค่าขาดรายได้ ระหว่างที่รถซ่อมไม่สามารถนำรถไปใช้ประโยชน์ทำการงานได้ ก็สามารถเรียกค่าขาดประโยชน์ตามมาตรา 238ได้
3.ค่าเช่า ?เรียกได้ไหม? ค่าเช่าไม่ใช่ความเสียหายที่เกิดจากการทำละเมิด ถึงถูกทำละเมิดก็เสียค่าเช่า ไม่ถูกทำละเมิดก็ต้องเสียค่าเช้าอยู่ดี แต่เช่าแล้วไม่ได้ใช้ต้องไปเรียกค่าขาดประโยชน์
     กรณีไม่มีหนังสือสัญญาเช่า เพียงแต่ฟ้องบังคับคดียันผู้ให้เช่าไม่ได้เท่านั้น ไม่ได้ทำให้ยันผู้ทำละเมิดไม่ได้ เพราะผู้เช่ายังมีสิทธิครอบครองใช้สอยทรัพย์สินอยู่ ฟ้องละเมิดเรียกค่าสินไหมได้ แม้ไม่มีสัญญาเช่าหรือหลักฐานเป็นหนังสือก็ตาม
    แต่กรณีที่ยังไม่ได้ครอบครองทรัพย์สินที่เช่า ตามหลัก สัญญาเช่าเป็นเพียงบุคคลสิทธิใช้ยันระหว่างคู่สัญญาเท่านั้นยันคนภายนอกไม่ได้ ดังนั้นถ้ายังไม่ได้ครอบครอง ไม่เป็นละเมิดต่อผู้เช่า ฟ้องละเมิดไม่ได้ เป็นแต่ละเมิดต่อเจ้าของกรรมสิทธิเท่านั้น แต่ถ้าผู้เช่าเข้าครอบครองแล้ว ย่อมได้ชื่อว่าละเมิดต่อผู้เช่าแล้วในฐานะผู้ครอบครองใช้ประโยชน์ทรัพย์นั้นอยู่
 ตัวอย่าง ฎีกา 1610/12 ,1190/18ผู้เช่าฟ้องผู้บุกรุกไม่ได้เพราะไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน ต้องขอให้ศาลเรียกผู้ให้เช่ามาเป็นคู่ความร่วมด้วยจึงจะทำให้ผู้เช่ามีอำนาจฟ้องผู้ทำละเมิด,(ฎ.779/33)

ละเมิด -ฎีกา

                                         
                                                  คําพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๕๗๑/๒๕๕๖

จําเลยถืออาวุธปืนติดตัวออกมาบริเวณทางเดินเท้าสาธารณะซึ่งอยู่ติดกับถนน สาธารณะหลังจากมีปากเสียงกับโจทก์ ประกอบกับจําเลยยังรับข้อเท็จจริงในคดีนี้อีกว่า จําเลยได้ พูดขู่เข็ญโจทก์ว่า “มึงอยากตายหรือ” การกระทําดังกล่าวนับว่าเป็นการกระทําโดยจงใจทําให้ โจทก์เสียหาย เป็นการทําละเมิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๔๒๐ แล้ว โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยและแม้ว่าจําเลยจะมิได้ยิงอาวุธปืนดังกล่าวก็ตาม แต่การ ที่จําเลยใช้อาวุธปืนข่มขู่โจทก์เช่นนี้เป็นการทําให้โจทก์เสียหายแก่ร่างกายและอนามัยของโจทก์ แล้ว เพราะเป็นการทําให้โจทก์ตกใจกลัวเป็นความเสียหายเกี่ยวกับความรู้สึกทางด้านจิตใจ ซึ่ง เป็นความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๔๔๖

http://www.jor7.coj.go.th/

วันพุธที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ละเมิด-การกระทำโดยงดเว้น

การกระทำโดยงดเว้นต้องเป็นการการงดเว้นจากหน้าที่ที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผล ไม่รวมถึงละเว้นในทางกฎหมายอาญา แบ่งเป็น3กรณี
-หน้าที่ตามกฎหมาย
-หน้าที่ตามสัญญา
-หน้าที่อันเกิดจากการกระทำครั้งก่อนของตน เช่น ฎ.646/13จำเลยขึงลวดไฟฟ้าป้องกันทรัพย์สิน เพื่อนบ้านทำผ้าอ้อมปลิวมาติด เอื้อมมือมาหยิบถูกไฟฟ้าช็อต ไม่เป็นบุกรุกเพราะเพื่อนบ้านต้องพึ่งพาอาศัยกันอยู่แล้ว จำเลมีสิทธิป้องกันทรัพย์สินของตนจริงแต่ก็มีหน้าที่ที่เกิดจากการขึงลวดไฟฟ้าไม่ให้ไปโดนเพื่อนบ้านด้วย เมื่อไม่ระวังเท่ากับทำละเมิดโดยงดเว้น หรือกรณีแขกมาเยี่ยมบ้านก็มีหน้าที่ตั้งแต่เชิญแขกเข้ามาในบ้านแล้ว เป็นหน้าที่จากการกระทำครั้งก่อนของตนหากบันไดบ้านหักทำให้แขกได้รับบาดเจ็บ เช่นนี้เป็นการทำละเมิด (พวกนี้ เป็นตัวอย่าง ไม่ได้มีเพียงกรณีจูงคนแก่หรือคนตาบอดไปทิ้งไว้กลางถนนเท่านั้น)

หน้าที่เหล่านี้ต้องเป็นหน้าที่โดยตรงด้วย เช่นตำรวจมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย เป็นหน้าที่ทั่วไปถ้าไม่ทำ อาจมีความผิดทางอาญาคือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ แต่ไม่ได้มีหน้าที่เฉพาะในการรักษาทรัพย์สินให้ใคร ดังนั้นแม้ทรัพย์สินจะหายไปเพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ทำตามหน้าที่ไม่อาจฟ้องละเมิดได้
หรืออย่างฎ.3220/53 นิติบุคคลอาคารชุดมีหน้าที่รักษาทรัพย์สินส่วนกลางแต่ไม่มีหน้าที่รักษาทรัพย์สินส่วนบุคคล ปรากฏว่ามีขโมยเข้าไปลักทรัพย์บุคคลในอาคาร ไม่เป็นละเมิด (แต่อาจารย์เพ็งเห็นว่า ก่อนจะผ่านไปถึงทรัพย์ส่วนบุคคลต้องผ่านส่วนกลางไปก่อน เพราะฉะนั้นน่าจะผิดตั้งแต่ยอมให้เค้าเดินผ่านส่วนกลางแล้ว)